3M และมาตรการทางกฎหมายเพื่อจำกัดการส่งออก

มาตรการหนึ่งที่สหรัฐฯใช้คือการนำกฎหมายซึ่งตราขึ้นในสมัยสงครามเกาหลีเพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลสามารถบังคับให้เอกชนดำเนินการผลิตตามความต้องการเพื่อประโยชน์ของชาติ


Cap & Corp Forum

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกข้อกำหนดและมาตรการจำนวนมากเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค โดยมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำออกมาใช้ คือ การนำกฎหมาย Defense Production Act 1950 (“DPA”) ซึ่งตราขึ้นในสมัยสงครามเกาหลีเพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลสหรัฐให้สามารถบังคับให้ผู้ผลิตเอกชนดำเนินการผลิตตามความต้องการของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของชาติในช่วงสงครามมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อาศัยอำนาจตาม DPA มีคำสั่งให้ 3M ซึ่งเป็นผู้ผลิตหน้ากาก N95 รายใหญ่ของประเทศและของโลกให้ยุติการส่งออกหน้ากากอนามัยและถุงมือไปต่างประเทศเพื่อให้มีปริมาณสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงหน้ากากที่ทำการผลิตในโรงงานของ 3M ในต่างประเทศก็ต้องนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศก่อนด้วย โดยรัฐบาลสหรัฐจะซื้อหน้ากาก N95 จาก 3M จำนวน 55.5 ล้านชิ้นต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 166.5 ล้านชิ้น

ก่อนที่ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นที่ยุติเมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2563 ตามการแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทางฝั่ง 3M ได้มีข้อโต้แย้งและไม่เห็นด้วยหลายประการโดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจาก 3M เชื่อว่าบริษัทสามารถจัดสรรหน้ากาก N95 ให้เหมาะสมตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละประเทศที่สั่งสินค้าตามสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ การจำกัดและห้ามการส่งออกย่อมส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อประเทศอื่น และยังเป็นการทำลายข้อตกลงทางการค้าและระบบการค้าเสรีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

แต่ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐและ 3M ก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้ว่า 3M จะยังสามารถส่งออกหน้ากากอนามัยที่ผลิตในประเทศไปยังประเทศแคนาดาและลาตินอเมริกาเพื่อประโยชน์ทางมนุษยธรรมได้ และ 3M จะนำหน้ากากที่ผลิตในประเทศจีนเพื่อเข้ามาทดแทนจำนวนที่ต้องจำหน่ายในประเทศตามข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐประมาณการว่ามีความต้องการหน้ากาก N95 ในสหรัฐประมาณ 300 ล้านชิ้นต่อเดือนในช่วงของวิกฤตินี้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนดังกล่าวมากกว่าที่ 3M จะสามารถผลิตและจัดส่งให้ได้ แต่เมื่อรวมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ที่ต่างเพิ่มกำลังการผลิตก็อาจเพียงพอต่อการรับสถานการณ์แพร่ระบาดได้

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ใช้อำนาจตาม DPA เพื่อห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัย ถุงมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลายรายการที่เกี่ยวเนื่องกับการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ โดยให้อำนาจแก่สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency, “FEMA”) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สำหรับปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ซึ่งการส่งออกใด ๆ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นรายกรณีก่อนเท่านั้น โดยให้เป็นหน้าที่ของศุลกากรที่จะต้องประสานและรายงานมายัง FEMA เพื่อพิจารณาก่อน โดยในเบื้องต้นให้คำสั่งดังกล่าวมีระยะเวลาการบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 เดือน

ในขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 (Commission Implementing Regulation (EU) 2020/402 of 14 March 2020 making the exportationof certain products subject to the production of an export authorisation) เพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหภาพยุโรปการที่ผู้นำในกลุ่มประเทศเสรีทางการค้าใช้มาตรการทางการค้าห้ามการส่งออกดังกล่าวแม้จะเพื่อประโยชน์ด้านการสาธารณสุขในประเทศก็ตาม มาตรการจำกัดการส่งออกดังกล่าวก็นำมาซึ่งความกังวลต่อการค้าโลกในอนาคต เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาเมื่อรัฐเลือกใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแล้วผลที่ตามมาคือแม้เหตุวิกฤติจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่มาตรการกีดกันก็จะยังคงถูกใช้ต่อไปเป็นระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าที่การค้าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กลุ่มประเทศ G20 ได้ยืนยันถึงหลักการค้าเสรีในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ว่าการใช้มาตรการใด ๆ เพื่อระงับวิกฤติด้านสาธารณสุขอาจกระทำได้ แต่รัฐควรตระหนักถึงหลักการสำคัญในทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยต้องใช้มาตรการต่าง ๆ  (1) อย่างเฉพาะเจาะจง (2) ได้สัดส่วน (3) โปร่งใส และ (4) เป็นการชั่วคราวเท่านั้น (G20 Leaders’ Statement และ G20 Trade and InvestmentMinisterial Statement, Saudi Arabia)

หลักการดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องมาตรการทางการค้า แต่ผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำมาปรับใช้กับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐนำออกมาใช้เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ รวมถึงเพื่อการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยนำออกมาใช้อย่างต่อเนื่องด้วย

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button