หุ้นบ้านปู & อุปทานหมู่

ภาพลวงตางบการเงินไตรมาส 1/63 ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่มีกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์เห่อกำไร” ทันที นักลงทุนเข้ามะรุมมะตุ้มหุ้น BANPU จนราคาวิ่งชนซิลลิ่ง 15% เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังเปิดตลาดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ภาพลวงตางบการเงินไตรมาส 1/63 ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่มีกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์เห่อกำไร” ทันที นักลงทุนเข้ามะรุมมะตุ้มหุ้น BANPU จนราคาวิ่งชนซิลลิ่ง 15% เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังเปิดตลาดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา

จากแรงเห่อกำไรหุ้น BANPU ทำให้นึกถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “อุปทานหมู่” (mass hysteria) หรือปรากฏการณ์ทางจิตสังคมอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นการแสดงออกอย่างเดียวกับโรคฮิสเตอเรียหรือโรคผีเข้า (hysteria) ที่มักมีสาเหตุจากการที่คนกลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อว่ากำลังประสบภาวะอาการบางอย่างแบบเดียวกันจึงแสดงอาการออกตามมาแบบเดียวกัน อาทิ หลายคนออกอาการเหมือนผีเข้า หลายคนส่งเสียงกรีดร้องโดยไม่มีเหตุผล บางรายเห็นภาพหลอน เป็นต้น

หนึ่งในปรากฏการณ์ “อุปทานหมู่” ที่สุดคลาสสิกครั้งหนึ่ง นั่นคือ “น้ำทะเลหาดมาฮิมมีรสหวาน” (Mumbai Sweet Water) เกิดขึ้นปี ค.ศ. 2006 ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่เกิดปรากฏการณ์ประหลาด เมื่อชาวเมืองอาศัยอยู่ในมุมไบ ต่างอ้างว่าน้ำทะเลจากหาดมาฮิม จู่ ๆ เกิดมีรสหวาน (ทั้งที่หาดมาฮิม เป็นหนึ่งในลำธารที่มีมลพิษทางน้ำมากสุดในอินเดีย)

ประชาชนเมืองกูจารัต (Gujarat) ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน พากันอ้างตามว่า น้ำทะเลจากชายหาด (Teethal) ในตัวเมือง กลับมีรสหวานเช่นกัน จากปรากฏการณ์ดังกล่าวประชาชนจำนวนมาก ต่างพากันดื่มน้ำเสีย หรือบางคนต่างพากันเก็บน้ำทะเลรสหวาน ใส่ภาชนะด้วยเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ที่ควรบูชานับถือ

จนทำให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ออกมาเตือนคนว่า “ห้ามดื่มน้ำ” จากแหล่งดังกล่าวพร้อมนำตัวอย่างน้ำทะเลไปตรวจวิเคราะห์และเตือนไม่ให้ประชาชนดื่มน้ำจากทะเล จนกว่าจะได้ผลวิเคราะห์ จากห้องปฏิบัติการ แต่ทว่าพอหนึ่งวันผ่านไป น้ำทะเลก็กลับมามีรสเค็มเหมือนเดิม..!?

ขณะที่ “อุปทานหมู่” ที่เกิดขึ้นกับหุ้น BANPU ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ หลงลืมกันไปว่าแท้จริงแล้ว “ราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ” ปรับตัวลง ที่สำคัญบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ที่บ้านปู ถือหุ้นมากถึง 78% กำไรลดลงเหลือเพียง 975 ล้านบาท

ที่น่าสนใจภายใต้กำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท แท้ที่จริงแล้ว ผลการดำเนินงานปกติขาดทุนสุทธิกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ที่เห็นโชว์ตัวกำไรสุทธิ กลับกลายเป็นกำไรพิเศษที่มาจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการปรับโครงสร้างเงินลงทุนและจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน

ส่วนธุรกิจหลักของ BANPU พบว่า มีผลดำเนินงานอ่อนแอลงอย่างชัดเจน เริ่มจากธุรกิจถ่านหิน ที่ราคาขายปรับลดลงกว่า 16% ธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ ราคาปรับตัวลงกว่า 56% ขณะที่ “ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน” ปรากฏว่าปรับลดลงเฉกเช่นเดียวกัน

สุดท้ายปรากฏการณ์ “เห่อกำไร” ที่เกิดขึ้นกับหุ้น BANPU จะลงเอยเช่นไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่แนวโน้มผลการดำเนินงาน “ธุรกิจถ่านหิน” จะไม่หอมหวาน..ดั่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอย่างแน่นอน..!!

Back to top button