หุ้นไทยหมดเสน่ห์ ?

วันก่อนหน้านี้ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO โพสต์เฟซบุ๊ก (แสดงความเห็นส่วนตัว) เกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วันก่อนหน้านี้ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO โพสต์เฟซบุ๊ก (แสดงความเห็นส่วนตัว) เกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย

พร้อมกับการตั้งคำถามว่า ตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์แล้ว…จริงไหม

ไพบูลย์เริ่มจากการให้ข้อมูลว่า คนที่ไม่ได้ติดตามภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ​อย่างใกล้ชิด

อาจไม่ทราบว่า มูลค่ารวม (Market Cap) ของตลาดหุ้นทั่วโลกได้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อตอนต้นปีที่ 87 ล้านล้านดอลลาร์​แล้ว

แปลง่าย ๆ ก็คือตลาดหุ้นโลกได้ “ก้าวข้ามผลกระทบจากวิกฤติโควิด” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถ้าวัดจากดัชนีตลาดหุ้นก็จะเห็นภาพที่สอดคล้องกัน

นั่นคือ ดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI World) เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ฟื้นกลับมาอยู่ระดับเดียวกับเมื่อตอนต้นปีพอดี

แยกเป็นตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (MSCI DM) ที่ปรับขึ้นเล็กน้อย (+0.2%)

ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ (MSCI EM) ปรับลงเล็กน้อย (-3%)

หลายคนอาจสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไร เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นทุกวัน เศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังอยู่ในภาวะถดถอย และเกือบทุกประเทศยังปิดประเทศอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเปรียบเทียบกับ “ตลาดหุ้นไทย” จะเหมือนฉายหนังคนละม้วน

นั่นเพราะ SET Index ปรับลงถึง 21% ในปีนี้

และมูลค่ารวมตลาดหุ้นไทยยังน้อยกว่าตอนต้นปีถึง 3 ล้านล้านบาท

คนส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะเกิดจากอิทธิพลของนโยบาย Quantitative Easing (QE) ของ Fed และธนาคารกลางอีกหลายแห่ง เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ “เม็ดเงิน” จำนวนมาก “ไหลบ่าเข้าสู่ตลาดหุ้น”

ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดเหล่านั้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทว่า ในความเป็นจริง สภาพคล่องที่เกิดจาก QE ส่วนใหญ่ไม่ได้ไหลเข้ากองทุนประเภทหุ้น หรือ Equity Funds

แต่ไหลเข้ากองทุนประเภทความเสี่ยงต่ำอย่าง Money Market และกองทุนตราสารหนี้มากกว่า

มิหนำซ้ำ เม็ดเงินจำนวนมากยังไหลออกจากหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิดด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่าง ราคาหุ้นธนาคารสหรัฐฯ​​ ปรับลงถึง 37% นับจากต้นปี

ธนาคารยุโรปปรับลง 43%

ธนาคารอังกฤษปรับลง 50% บริษัทน้ำมัน Exxon ปรับลง 49% สายการบิน United Airlines ปรับลง 60% กลุ่มโรงแรม Hyatt ปรับลง 40%

ดังนั้น QE จึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้มูลค่ารวมตลาดหุ้นโลกพุ่งกลับมาที่ระดับก่อนโควิด..?

คำตอบคือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

เพราะนับจากต้นปี ราคาหุ้น Amazon ปรับขึ้นไปแล้ว 73% คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นถึง 6.7 แสนล้านดอลลาร์

หุ้น Apple ปรับขึ้นไป 54% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 7 แสนล้านดอลลาร์

แค่หุ้น 2 ตัวนี้ มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ​ ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ไปแล้ว หรือคิดเป็นเกือบ 3 เท่าของมูลค่าตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด

หุ้นน้องใหม่อย่าง Zoom ที่ให้บริการ virtual conference platform ราคาปรับขึ้นถึง 620% จาก US$68 เมื่อตอนต้นปี

ล่าสุดมาอยู่ที่ US$478

หุ้นบริษัท Sea ของ Singapore ที่ให้บริการ internet platform และเป็นบริษัทแม่ของ Shopee ราคาขึ้นจาก US$40 เป็น US$155 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 300%

กล่าวโดยสรุป การฟื้นตัวของตลาดหุ้นหลังโควิด ไม่ได้เกิดขึ้นทั้งตลาด หรือในทุกตลาด

แต่เป็นการฟื้นในแบบ K-shaped

หมายความว่ามีทั้งหุ้นที่ปรับขึ้น (หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก New Normal)

และหุ้นที่ปรับลง (หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด)

และมีทั้งตลาดหุ้นที่ปรับขึ้น (ตลาดที่มีหุ้นเทคโนโลยีจำนวนมาก) และตลาดหุ้นที่ปรับลง (ตลาดที่มีแต่หุ้น Old Economy)

ตลาดหุ้นไทย จัดอยู่ในตลาดกลุ่มหลังที่มีแต่หุ้นขนาดใหญ่ประเภทเดิม ๆ ประเภท Cyclical เช่น ธนาคาร น้ำมัน ปิโตรเคมี ค้าปลีก ฯลฯ ซึ่งทำให้ขาดความน่าสนใจ

อีกทั้งเรา “ไม่มีหุ้นเทคโนโลยี” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการดำเนินชีวิตแบบปกติใหม่

ย้อนกลับไปปี 2008 Exxon เคยเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์

ในปีนั้น Apple มีมูลค่าเพียง 1.5 แสนล้านดอลลาร์

ปัจจุบันนี้ Apple กลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ​ ด้วยมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วย Amazon, Microsoft, Google, Facebook ฯลฯ

ส่วนมูลค่าของ Exxon ลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ และไม่อยู่ใน 20 อันดับแรก

เปรียบเทียบกับไทย 10 บริษัทใหญ่สุดในตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในภาวะเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ หุ้นเหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือกแรกของนักลงทุน

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยออกไปเรื่อย ๆ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ถึงเวลาแล้วที่ตลาดหุ้นไทยต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ถูกใจนักลงทุน

Back to top button