พปชร.รื้อ ‘ปราบโกง’

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ACT ชวนเข้าชื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144, 185 ของพรรคพลังประชารัฐ คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา สังศิต พิริยะรังสรรค์, คำนูณ สิทธิสมาน, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ (อดีตประธาน ปปช.) ดาหน้าต้าน กระทั่งหมอวรงค์ “ไทยภักดี” ก็โวยทั้งประเด็นนี้และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบ 2540 ที่พลังประชารัฐกับเพื่อไทยเห็นตรงกัน


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ACT ชวนเข้าชื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144, 185 ของพรรคพลังประชารัฐ คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา สังศิต พิริยะรังสรรค์, คำนูณ สิทธิสมาน, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ (อดีตประธาน ปปช.) ดาหน้าต้าน กระทั่งหมอวรงค์ “ไทยภักดี” ก็โวยทั้งประเด็นนี้และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบ 2540 ที่พลังประชารัฐกับเพื่อไทยเห็นตรงกัน

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 เป็นบทบัญญัติที่ กรธ.มีชัยภาคภูมิใจ คุยว่าเป็นหัวใจ “รธน.ปราบโกง” ซูเปอร์โพลเคยด่าฝ่ายค้านต้องการแก้มาตรานี้ ที่ไหนได้กลายเป็น พปชร.แก้เอง

มาตรา 144 เป็นเรื่องแปรญัตติงบประมาณ ห้ามแปรญัตติแล้วทำให้ ส.ส. ส.ว. มีส่วนใช้งบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ใครฝ่าฝืนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต ถ้า ครม.รู้เห็นพ้นตำแหน่งทั้งคณะ

มาตรานี้มาจากทัศนะด้านลบว่า ในอดีตที่ยอมให้ ส.ส. แปรญัตติตัดงบหน่วยงานหนึ่งไปเพิ่มให้อีกหน่วยงานหนึ่ง เช่น ตัดงบกองทัพให้คมนาคม แล้ว ส.ส.จะตามไปของบทำถนนหรือบางทีก็ฮั้วกันทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านเพื่อให้งบผ่าน จัดสรรงบสร้างถนน สร้างฝายตามที่ ส.ส.ขอ ซึ่งบางครั้งก็มีที่ตามไปรับค่าหัวคิว

แต่พอห้ามแปรญัตติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กมธ.ตัดงบเท่าไหร่ต้องกลับไปเข้างบกลาง ส.ส.จะเสนอให้ตัดงบซื้ออาวุธไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ก็ขู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ งบกลางก็เหมือนตีเช็คเปล่าให้นายกฯ คิดหรือว่า ส.ส.รัฐบาลของบไม่ได้ คิดหรือว่าจะไม่สามารถฮั้วกัน

นี่เป็นทัศนะปราบโกงบนหอคอย เกลียดนักการเมืองจากเลือกตั้ง ไม่ยอมรับว่า ส.ส.รู้ปัญหาประชาชนดีที่สุด ควรมีสิทธิเสนอโครงการ โดยการตัดสินใจยังเป็นของรัฐ ใครโกงก็ว่าเป็นราย ๆ ไม่ใช่เหมาว่าของบเข้าพื้นที่ตัวเองผิดหมด

มาตรา 144 ยังควบมาตรา 185 ห้าม ส.ส. ส.ว. ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือผู้อื่น ห้ามกระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมใช้จ่ายงบ

ส.ส. ก็เลยไม่กล้าพาชาวบ้านไปร้องเรียนส่วนราชการ เพราะถือเป็นประโยชน์ “ผู้อื่น”

มาตราเหล่านี้รู้กัน มีไว้เล่นงานเพื่อไทย แต่พอ พปชร.เป็นรัฐบาลก็อึดอัด ไม่ได้ดังใจ จึงเสนอแก้ไข แต่ก็แก้ตลก ๆ คือมาตรา 144 ยังห้ามแปรญัตติ อำนาจศาลตัดสิทธิก็คงไว้ แต่ไปตัดอำนาจ ปปช. บทลงโทษ การเรียกเงินคืน ส่วนมาตรา 185 ก็ไปตัดข้อห้ามก้าวก่ายแทรกแซงและห้ามมีส่วนใช้งบ

ก็เลยเป็นประเด็นให้มองว่า พปชร.ต้องการใช้งบหาเสียง โดยเฉพาะเงินกู้ 5 แสนล้าน ที่จะมีโครงการระดับจังหวัด 45,000 ล้านบาท แม้ล่าสุด ไพบูลย์ นิติตะวัน ยอมถอย รับปากแก้ไขร่างหลังผ่านวาระแรก เพียงขอผ่อนคลายว่า ให้ทำได้ถ้าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน

สองมาตรานี้มองในทางหลักการก็ควรแก้ไข เพราะมัดมือ มัดตีน ส.ส.เกินไป แต่ในทางปฏิบัติ คนก็ไม่ไว้วางใจ ตลกร้ายคือพวกที่เคยไล่ทักษิณ ไม่ไว้วางใจ พปชร.

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้คงผ่านเฉพาะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบ 2540 ญัตติแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ คงคว่ำตั้งแต่วาระแรก ถ้า ส.ว.โหวตไม่ถึง 1 ใน 3

แต่แรงกระเพื่อมตามมามากมาย เพราะมาตรา 272 ยื่นร่วมกันทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย นับคร่าว ๆ 300 กว่าเสียง กลับแพ้เพราะ ส.ว.

ปชป.เสนอแก้ 256 ให้แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ตามเงื่อนไขที่ใช้อ้างร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ถ้าถูกตีตกจะทำไง ร่วมรัฐบาลต่อไปแบบหน้าเจื่อน?

รัฐบาลคงไม่ล่มง่าย แต่ความไม่ไว้วางใจกำลังเพิ่มขึ้น ทั้งจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหลัง พปชร.เปลี่ยนเลขาธิการเป็นธรรมนัส

ซึ่งประกาศชัดเจนว่าสมัยหน้าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

Back to top button