อย่าให้เหมือน ‘คิวบา’

ชาวคิวบาได้พากันออกมาประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ด้วยความไม่พอใจครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และการประท้วงนี้ เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชน “เหลืออด” การจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพต่อการระบาดของโควิด-19  กับการล่มสลายของเศรษฐกิจและ การจำกัดเสรีภาพของพลเรือน


ชาวคิวบาได้พากันออกมาประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ด้วยความไม่พอใจครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และการประท้วงนี้ เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชน “เหลืออด” การจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพต่อการระบาดของโควิด-19  กับการล่มสลายของเศรษฐกิจและ การจำกัดเสรีภาพของพลเรือน

เศรษฐกิจคิวบาควบคุมโดยรัฐเป็นส่วนใหญ่ ในปีที่ผ่านมา หดตัวประมาณ 11%  เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบสามทศวรรษ ในขณะนี้ เศรษฐกิจกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในภาคสำคัญที่สุด ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเดินทางในช่วงโควิดระบาด ขณะที่การส่งออกน้ำตาล ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศ ก็แย่กว่าที่คาดไว้มาก

Azcuba ซึ่งเป็นหน่วยงานผูกขาดน้ำตาลของคิวบา กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำตาลเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขาดเชื้อเพลิงและเครื่องจักรเสีย ทำให้การเก็บเกี่ยวอ้อยทำได้ยาก และยังมีปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ความชื้นในไร่อ้อย ด้วย

เมื่อรายได้หลักหดหาย ส่งผลให้ทุนสำรองต่างประเทศของรัฐบาลหมดลง ไม่สามารถซื้อสินค้านำเข้าเพื่อทดแทนการขาดแคลนได้ตามปกติ ประชาชนต้องเข้าคิวซื้ออาหารเพิ่มขึ้น และการขาดแคลนไฟฟ้า ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน

อีกชนวนหนึ่งที่ทำให้คนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลมากก็เพราะว่า ประธานาธิบดี มิเกล มาริโอ ดิอาซ-คาเนล ออกทีวีเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนรัฐบาล ออกมาปกป้องการปฏิวัติ หรือการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2502 จนนำไปสู่การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเวลาหลายปี

ผู้นำคิวบา กล่าวหาทหารรับจ้างที่ได้รับการว่าจ้างจากสหรัฐฯ ว่า ยั่วยุให้เกิดการประท้วง เพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ

การประท้วงเริ่มจากเมือง ซาน อันโตนิโอ เดอ ลอส บาโญส ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงฮาวานา แต่ได้ลุกลามไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว

ข้อเรียกร้องสำคัญอย่างหนึ่งในการประท้วงครั้งนี้คือ ให้ฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น หลังจากที่คิวบารายงานยอดผู้ติดเชื้อวันละเกือบ 7,000 คน และเสียชีวิต 47 คนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ทำการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทนไม่ไหวอีกต่อไปกับการขาดอาหาร ยา และเสรีภาพ

โพสต์ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียโชว์ภาพประชาชนช่วยกันคว่ำรถยนต์ของตำรวจและการปล้นสะดมร้านค้าของรัฐ ซึ่งกำหนดราคาสินค้าเป็นสกุลเงินต่างชาติ ร้านค้าเหล่านี้เป็นหนทางเดียวที่คนคิวบาจะได้ซื้อสิ่งของที่จำเป็น แต่ก็มีราคาสูงลิ่ว

แม้ว่าฝูงชนที่ออกมาประท้วงไม่ใหญ่มากเป็นพิเศษ และอาจจะถือว่าไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับการประท้วงในส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่ก็ไม่น่าจะมองข้ามได้ เพราะในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แบบคิวบา การออกมาประท้วง สามารถถูกจับและติดคุกได้ง่าย มันจึงน่าคิดว่าทำไมคนถึงยังกล้าออกมาประท้วง

ในขณะเดียวกันการประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ ยังถูกเจ้าหน้าที่จับตาได้ง่าย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า มีความไม่พอใจอยู่มากในการประท้วงครั้งนี้  นอกจากนี้ ผู้ประท้วงได้ไลฟ์สดบนโซเชียลมีเดีย ทำให้รัฐบาลปิดบังความไม่พอใจของประชาชนได้ยากมากขึ้น

การลุกขึ้นมาประท้วงในคิวบา น่าจะเป็นสัญญาณนำร่องได้ว่า อาจจะมีการประท้วงเกิดขึ้นอีกในหลายประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองสะสม และทับถมมานานอยู่แล้ว โดยมีการบริหารจัดการวิกฤตโควิดที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ประชาชน “เหลืออด” กับรัฐบาล และออกมาประท้วงในที่สุด

จะว่าไปแล้ว ความอัดอั้นตันใจในคิวบา ก็ไม่ต่างกันมากกับความรู้สึกของคนไทยในยามนี้ เมื่อได้เห็นภาพที่คนไปนอนรอตรวจโควิดข้างวัด หรือมีรายงานคนเสียชีวิตขณะที่รอรถมารับไปโรงพยาบาล แต่เมื่อดูตัวเลขของคิวบา ยอดผู้ติดเชื้อแค่เกือบ 7,000 คนต่อวัน และเสียชีวิตเพียงแค่ 47 คนต่อวัน ยังทำให้ประชาชนทนไม่ไหว แล้วนับประสาอะไรกับบ้านเราที่ขณะนี้ ยอดติดเชื้อรายวันเคยสูงเกือบหนึ่งหมื่นคน ตายเกือบ 100 คนต่อวันอยู่รอมร่อ

รัฐบาลต้องเร่งจัดการและสร้างความเชื่อมั่น เพื่อป้องกันไม่ให้เราไปถึงจุดที่ประชาชน “สุดจะทน” แบบในคิวบา

Back to top button