‘เปิดเศรษฐกิจ’ … ‘ฝันที่ไกลจากความจริง’

มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่า การเร่งฉีดวัคซีน จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้


แม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นภูมิภาคที่มียอดติดเชื้อโควิดสูงมากสุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ดูเหมือนว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาค มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดเศรษฐกิจและเปิดพรมแดนให้ได้ โดยเชื่อว่า การเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นและมากขึ้น จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และช่วยชดเชยผลกระทบของการระบาดต่อเศรษฐกิจได้

เหตุผลสำคัญที่แต่ละประเทศต้องการเร่งเปิดเศรษฐกิจ มันชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า เป็นเพราะรัฐบาลแบกรับภาระในการอุดหนุนเศรษฐกิจไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ฐานะการเงินของรัฐบาลส่วนใหญ่ร่อยหรอลง นับตั้งแต่มีการอุดหนุนกันอย่างมโหฬารในปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้ และมาตรการที่ได้ทำบางอย่างก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ บางอย่างก็เกาไม่ถูกที่คัน และหลายโครงการไม่ได้ถึงมือชาวบ้าน หรือ ธุรกิจรายเล็กที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกัน การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในภูมิภาค ทำให้การติดเชื้อแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วมากขึ้น จนทำให้ความหวังที่คาดการณ์ไว้ว่าจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีอันต้องเลื่อน หรือชักเข้าชักออกมาแล้วหลายรอบ

แม้แต่สิงคโปร์ที่ถือว่าเป็นประเทศที่คุมการระบาดได้ดีที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากสุดและเร็วสุดแห่งหนึ่งของโลก ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจากหลักสิบ กลายเป็นหลักร้อยทุกวัน ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ไม่ต้องพูดถึง ยอดติดเชื้อในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนามที่ยังเป็นหลักหมื่นหลักพัน

อัตราการเสียชีวิตรายวันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังแซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และทำให้ภูมิภาคฟื้นตัวจากโควิดได้ต่ำสุด จากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก

เมื่อยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลงสักที และไม่มีเงินจะเยียวยาอีก  รัฐบาลต่าง ๆ มองว่า ทางรอดเดียว คือต้อง “เปิดเศรษฐกิจ” และ “เปิดพรมแดน” ให้เร็วที่สุดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

ยอดคนติดเชื้อและคนตาย ค่อยว่ากันอีกที

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ได้ออกมาประกาศว่า จะต้องเรียนรู้ที่จะ “อยู่กับไวรัส” ให้ได้ และได้วางกลยุทธ์ในการเปิดเศรษฐกิจและคลายระเบียบเป็นช่วง ๆ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังจากนั้นมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทยก็เริ่มประกาศแผนเปิดเศรษฐกิจตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

มาตรการที่ออกมาใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการแบบเจาะจงมากขึ้น ไม่ควบคุมทั้งหมดเหมือนตอนแรก และให้ความสำคัญกับใบรับรองการฉีดวัคซีน โดยหวังว่า จะช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้

ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียอนุญาตให้ผู้ที่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนเท่านั้นจึงจะไปห้างสรรพสินค้าและสถานที่สำคัญทางศาสนาได้  ขณะที่ในมาเลเซียต้องฉีดวัคซีนจึงจะไปโรงภาพยนตร์ได้ และภัตตาคารในสิงคโปร์ ต้องตรวจสอบสถานะวัคซีนของลูกค้า

อย่างไรก็ดี เวลเลียน วิรันโต นักเศรษฐศาสตร์ของ โอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป มองว่า ความหวังใด ๆ ในการกลับมาเปิดพรมแดนในวงกว้างอีกครั้ง เพื่อที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับการค้าและการท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน จะยังคงเป็นเพียง “ความฝันอันห่างไกล” เนื่องจาก เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังซบเซา เพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องกัน และประชาชนมีความรู้สึกอ่อนล้ามากขึ้นเมื่อวิกฤตยืดเยื้อ

ในมาเลเซีย ความวิตกกังวลในสังคม ได้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หลังจากการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วย แต่กลับทำให้คนตกงานมากขึ้น

ในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ภาคธุรกิจเริ่มมีปัญหาในการวางแผนระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาล และ การประท้วงขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่เกิดก่อนโควิดระบาดในบ้าน ก็ได้กลายเป็นการชุมนุมรายวันที่ทำท่าว่าจะเป็นหนังยาว

ยังไม่รู้ว่า แผนการเปิดเศรษฐกิจของไทยและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่จำได้ว่า หลังการระบาดเริ่มขึ้นทั่วโลกใหม่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาเตือนว่า การคลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป อาจสร้างความเสียหายมากกว่าเดิม หากมีการระบาดระลอกสองตามมา และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นตามมาจริง ๆ ในแทบทุกภูมิภาค จนล่วงเลยมาถึงขณะนี้

นั่นอาจเป็นเพราะว่า เสียงเตือนเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพ ยังไม่ดังเท่ากับเสียงเรียกร้องในการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ  หลายประเทศจึงติดเชื้อวนไปอย่างเช่นทุกวันนี้ และสุดท้ายก็เปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ไม่ได้สักที

ประเทศไหนที่ผู้นำประเมินสถานการณ์โควิดผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่เรียนรู้ที่จะแก้ไขให้มันถูกต้องและทันท่วงที การเปิดเศรษฐกิจเต็มตัว ก็น่าจะเป็น “ฝันที่ไกลจากความจริง” มากขึ้นไปอีก

Back to top button