พาราสาวะถี

นายกรัฐมนตรีต้องใช้เวลาพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งวันนี้ก็เกินกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว


ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และผ่านกระบวนการตามกฎหมายกำหนด ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ส่งร่างถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตามขั้นตอน นายกรัฐมนตรีต้องใช้เวลาพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งวันนี้ก็เกินกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โดยที่ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลก็ยืนยันว่านายกฯ ไม่มีอำนาจที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ถึงประเด็นที่ต้องชะลอการเดินหน้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 148 นั้น วันนี้ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพราะเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเนื้อหาขัด หรือแย้ง หรือตราขึ้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อขั้นตอนที่ดำเนินการถูกต้อง นายกฯ ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ จากนี้จึงต้องรอการโปรดเกล้าฯ ร่างแก้ไขลงมา เพื่อไปสู่กระบวนการยกร่างกฎหมายประกอบต่อไป

ในที่นี้มีกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องสองฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อถึงเวลานั้น น่าสนใจต่อกระบวนการเสนอของแต่ละพรรคการเมือง เพราะสิ่งที่จะเสนอให้แก้ไขในกฎหมายลูกนั้นมันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไป หากไม่มีอะไรแตกต่างหรือพลิกแพลงไปจากระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเข้าทางพรรคเพื่อไทย

แต่หากมีอะไรซับซ้อนหรือมีเงื่อนไขที่ยุ่งยากกว่าเดิม ก็เท่ากับว่าการปล่อยให้เดินหน้าแก้ไขของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เป็นการปลดปล่อยพันธะจากการแถลงนโยบายของตัวเองต่อรัฐสภาที่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนอยู่ด้วย เมื่อมีวาระซ่อนเร้นบรรจุอยู่ในเนื้อหาที่มีการแก้ไข ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าขบวนการสืบทอดอำนาจยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกที่ได้วางแผนกันมาก่อนรัฐประหาร 2557 เพื่อการอยู่ยาวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อห้ามของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ในอำนาจได้ไม่เกิน 8 ปี ได้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการอยู่ยาวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ดังนั้นจึงต้องมองหาทายาทที่จะเข้ามาสานต่อ ความจริงจะพูดให้ถูกคือมาช่วยกดทับความผิดพลาดหรือความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมาต่อไป ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ยังหาไม่เจอ อันจะเห็นได้จากพรรคสืบทอดอำนาจที่ยังคงจะเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อไป

จะว่าไปไม่ใช่เฉพาะพรรคสืบทอดอำนาจที่จำใจต้องเสนอผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นตัวเลือกนายกฯ เนื่องจากไร้ตัวเลือกเท่านั้น แม้แต่พรรคเพื่อไทยเองจนถึงเวลานี้ก็ยังหาตัวชูโรงแบบบิ๊กเนมและเป็นที่ยอมรับในภาพกว้างจากสนามเลือกตั้งไม่ได้ การปรากฏรายชื่อของทั้ง ชัยเกษม นิติสิริ และ พลตำรวจเอกวินัย ทองสอง ก็เป็นเพียงแค่ตุ๊กตาของฝ่ายกุมการนำภายในพรรคทั้งจากสองสาวพี่น้องน้องรักของนายใหญ่ และ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เท่านั้น

เมื่อสอบทานกระแสตอบรับภายในพรรคหลังการโยนรายชื่อของทั้งสองแคนดิเดตมาแล้ว หากจะให้สอพลอเพื่อเอาใจก็จะเห็นดีเห็นงาม แต่หากไปถามลงลึกในแง่ของการหวังผลสร้างคะแนนนิยมช่วยผู้สมัคร บรรดานักเลือกตั้งต่างพากันส่ายหน้า ไม่ว่าจะมองในมุมไหนสองคนดังว่าไม่ใช่นักการเมืองอาชีพเหมือนอย่าง สมัคร สุนทรเวช ที่เคยนำพลังประชาชนเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 หรือเหมือน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นสายตรงก้าวขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2554

โจทย์ทางการเมืองสำหรับนายใหญ่ต้องรอดูหน้าไพ่ว่าด้วยข้อห้ามต่าง ๆ ที่จะออกมาก่อนการเลือกตั้งอีกครั้ง อันจะเห็นได้จากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ห้ามเรื่องการมีภาพของคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคในการเลือกตั้งมาใช้หาเสียง หรือแม้แต่การห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำพรรคด้วย แต่หากเงื่อนไขไม่มาก และระบบเลือกตั้งกลับมาเหมือนเดิม คนแดนไกลก็มั่นอกมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าคะแนนเสียงจะถล่มทลาย ทว่าจะได้ไปไกลถึงขั้นตั้งรัฐบาลหรือไม่ จุดนี้หวังลำบาก

ด้วยเหตุที่ว่าส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงยังไม่ถูกตัดอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ นั่นหมายความว่า โอกาสกลับมานั่งในเก้าอี้นายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า หนนี้ภาพของการจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนไป พรรคสืบทอดอำนาจจะใช้วิธีการเดิมคือรวบรวมคะแนนเสียงส.ส.ที่กระจัดกระจาย และอาศัยการตีความให้มีส.ส.แบบปัดเศษไม่ได้อีกต่อไป จะกลายภาพเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรแทน

จากบริบททางการเมืองที่มองกันอยู่เวลานี้ หากสถานการณ์บ้านเมืองยังดำเนินไปในลักษณะนี้จนถึงวันเลือกตั้ง พรรคที่ชนะอันดับหนึ่งคือเพื่อไทยนอนมา ตัวเลขน่าจะทิ้งห่างกับพรรคสืบทอดอำนาจพอสมควร ขณะที่พรรคอันดับ 3 ก้าวไกลยังถูกยกให้เป็นตัวเต็ง เพราะจะได้เสียงจากฐานของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็จะมีส.ส.รับกล้วยจำนวนหนึ่งที่จะแปรพักตร์ไป ซึ่งคนเหล่านั้นน่าจะกลายเป็นพวกส.ส.สอบตก ส่วนภูมิใจไทยก็จะไม่ได้เก้าอี้มากเหมือนเดิม เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะพรรคเก่าแก่นั้น บรรดาคอการเมืองต่างพากันปรามาสหากแคนดิเดตนายกฯ ยังชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ยากที่จะสร้างคะแนนนิยมได้ ยังไม่นับรวมกรณีที่จะถูกเพื่อนร่วมรัฐบาลใช้พลังดูดอีกกระทอก เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเก็บคะแนนเสียงอันเป็นฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์ทั้งในกทม.และภาคใต้ได้เบ็ดเสร็จ ส่วนที่คาดการณ์กันว่าสูตรการเมืองเพื่อไทยจูบปากเผด็จการสืบทอดอำนาจตั้งรัฐบาล ในทางการเมืองไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

Back to top button