P2P lending สินเชื่อแห่งอนาคต

“ยานแม่” ภายใต้ชื่อ SCBX ของ SCB มุ่งสู่เทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความหลากหลายทางธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มการเงินต่าง ๆ


การปรากฏตัวของ “ยานแม่” ภายใต้ชื่อ SCBX ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความหลากธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มการเงินต่าง ๆ รองรับบริบทธุรกรรมการ เงินใหม่ของโลก ถือว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว

หนึ่งในฟันเฟือง “ยานแม่ SCBX” นั่นคือแพลตฟอร์มการให้สินเชื่อแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม “สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer (P2P) lending)” หรือการกู้ยืมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ พร้อมเพิ่มโอกาสนักลงทุนด้านการเงินมากขึ้น

โดยธุรกรรม P2P lending เป็นการกู้ยืมระหว่างบุคคลต่อบุคคล เป็นการให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยระบบจะจับคู่ผู้ขอสินเชื่อและนักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป แตกต่างจากการให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมที่แหล่งทุนนั้นมาจากธนาคาร ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากประเทศฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และแถบเอเชีย อย่าง จีน สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย ถือว่าได้รับความนิยมสูงเช่นกัน

รูปแบบ P2P lending มี 6 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การยื่นใบคำขอกู้ยืมเงิน ตอบรับคำขอ ตรวจสอบเครดิต พิจารณาอนุมัติ ส่งมอบเงินและบริหารจัดการเงินกู้ โดยฟินเทค สตาร์ทอัพ จะสร้างอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม เช่น แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์เพื่อเชื่อมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตน บนแพลตฟอร์มเสียก่อน สำหรับผู้กู้ต้องกรอกรายละเอียดจำนวนเงินที่ต้องการกู้ รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงินและระยะเวลาการกู้ยืมเงิน

หลังจากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ เครดิตของผู้กู้ และความสามารถการชำระหนี้จากข้อมูลที่ให้มาตอนลงทะเบียน กระบวนการนี้จะใช้เวลาสั้นกว่าธนาคาร ในยุโรป ใช้เวลาการสืบและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้เพียง 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณาต่อไป

สรุปแล้วกระบวนการพิจารณาคำขอและอนุมัติสินเชื่อใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ต่างจากธนาคารพาณิชย์ ต้องใช้เวลามากกว่านั้น ส่วนขั้นตอนการทำสัญญาและโอนเงินจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้ รวมถึงการทำสัญญาและติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย อาจใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับ “ผู้ขอกู้” เป็นบุคคลธรรมดา ปล่อยได้ทั้งเพื่อ “อุปโภคบริโภค” ไม่เกิน 1.5-5 เท่าของรายได้และ “เพื่อประกอบธุรกิจ” ไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วน “ผู้ปล่อยกู้” เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดย “ผู้ลงทุนรายย่อย” ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ขณะที่ “ผู้ลงทุนสถาบัน” ไม่จำกัดจำนวน

มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (ดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระคืน) และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม ที่แล้วแต่จะมีการกำหนด

อย่างไรก็ดี การทำธุรกรรม P2P lending มีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงที่ผู้กู้จะก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้หรือความเสี่ยง ที่ผู้ให้กู้อาจไม่ได้รับชำระหนี้คืน ตามสัญญา เนื่องจากการให้สินเชื่อไม่ใช่การฝากเงิน ผู้ให้กู้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองหรือความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถยกเลิกการให้สินเชื่อหรือเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนครบกำหนดสัญญาได้

ที่สำคัญ P2P lending เป็นธุรกรรมการให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการในวงกว้าง สัญญาสินเชื่อสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน จึงมีโอกาสเกิดการหลอกลวงทั้งจากแพลตฟอร์มและผู้กู้ได้

โดยธปท.กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ P2P lending platform ให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของแพลตฟอร์มโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัย มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการและข้อมูลส่วนบุคคล มีการเปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจครบถ้วน

เป็นที่น่าสนใจว่า P2P lending กำลังกลายเป็น “สินเชื่อแห่งอนาคต” ที่น่าจับตาเลยทีเดียว..

Back to top button