เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

COP26 จบลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อย่างที่บอกไว้ว่านักลงทุนต้องจับตาผลการประชุมนี้ให้ดี เพราะมันจะมีผลต่อการลงทุน และแล้ว มันก็มีจริง ๆ


การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 จบลงไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อย่างที่บอกไว้ว่านักลงทุนต้องจับตาผลการประชุมนี้ให้ดี เพราะมันจะมีผลต่อการลงทุน และแล้ว มันก็มีจริง ๆ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หุ้นถ่านหินร่วงระเนนระนาดทั่วเอเชีย หลังจากที่มีการตกลงในที่ประชุมว่าจะค่อย ๆ ลดจำนวนการใช้ถ่านหินลง จากที่ราคาหุ้นถ่านหินส่วนใหญ่ ได้พุ่งขึ้นมากกว่า 40% ในปีนี้หลังจากที่เกิดการขาดแคลนพลังงานในจีนและยุโรป

นั่นเป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ข้อตกลงของการประชุม Cop26 มีความสำคัญขนาดไหน

หัวใจหลักที่เกือบ 200 ประเทศได้ตกลงในการประชุมครั้งที่ 26 นี้ คือ จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และยังเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนถึงเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญสุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจากฝีมือของมนุษย์ โดยขอให้รัฐบาลต่าง ๆ เร่งลดการปล่อยมลพิษ และให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนเงินมากขึ้นแก่ประเทศยากจนที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การประชุมนี้ยังทำให้เกิดคำมั่นสัญญาและข้อตกลงโดยสมัครใจจากประเทศ บริษัท และนักลงทุนที่จะสะสางปัญหาการปล่อยมลพิษจากรถยนต์และเครื่องบิน ควบคุมก๊าซมีเทนที่มาจากก๊าซเรือนกระจก ปกป้องป่าไม้ และสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวด้วย

อย่างไรก็ดี การรับปากกับการกระทำอาจจะไม่ไปด้วยกัน และที่ผ่าน ๆ มา มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าข้อตกลงหลายอย่างไม่คืบหน้าหรือสามารถทำได้

นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างเพียงพอที่จะลดการปล่อยมลพิษ และไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ในทางกลับกัน ยังเพิ่มคำมั่นสัญญาเพื่ออุดช่องว่างในปีหน้า

ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลต่าง ๆ ในขณะนี้ที่จะลดการปล่อยมลภาวะในช่วง 10 ปีนี้ จะทำให้อุณหภุมิโลกอยู่ที่ 2.4 องศาเซลเซียส และหากจะให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะคุมอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเชียส ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากระดับปี 2553 จำนวน 45% ภายในปี 2573 แต่ภายใต้คำสัญญาในปัจจุบัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเพิ่มขึ้นเกือบ 14% ภายในปี 2573

จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดในโลก ได้ประกาศร่วมกับสหรัฐฯ ว่าจะเร่งพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการควบคุมการใช้ถ่านหิน การจัดการก๊าซมีเทน และการอนุรักษ์ป่าไม้  แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจน มิหน้ำซ้ำยังเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อุดมไปด้วยทรัพยากร รวมหัวกันลดโทนในการตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในข้อตกลงกลาสโกว์เสียอีก

เดิมที่ร่างข้อตกลง เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ “ยุติ” การใช้ถ่านหินและการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เมื่อมีการเจรจาต่อรอง ก็เปลี่ยนในร่างข้อตกลงเป็น ยังคงใช้ถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีที่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้

ส่วนเรื่องเงินอุดหนุน ก็เปลี่ยนไปเป็นคำว่า “เงินอุดหนุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ” โดยไม่มีคำจำกัดความว่า เงินอุดหนุนประเภทใดที่นับว่าไม่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐบาลจัดหาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินกันต่อไป

มีรายงานว่า มีการล็อบบี้ในนาทีสุดท้ายจากอินเดียและจีนก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ จนสามารถ เปลี่ยนจากการ “เลิกใช้” ถ่านหิน มาเป็นค่อย ๆ ลดจำนวนการใช้ลงได้

ข้อตกลงกลาสโกว์ ยังมีปัญหาด้านการเงินด้วย โดยมีการถกเถียงกันระหว่างประเทศยากจนกับประเทศร่ำรวย แต่ยังดีที่มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง คือ  ขอให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจัดหาเงินทุน เพิ่ม จากระดับ 2562 อย่างน้อยสองเท่าภายในปี 2568 ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจัดการปัญหาสภาวะภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับ “ความสูญเสียและความเสียหาย” ในข้อตกลงด้วย โดยความสูญเสียและความเสียหายหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ประเทศต่าง ๆ เผชิญอยู่แล้วจากภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้มีการเรียกร้องค่าชดเชยมาหลายปีแล้ว แต่หลังจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศร่ำรวยอื่น ๆ คัดค้าน เรื่องเงินชดเชยก็มีอันตกไป ประเทศเล็ก ๆ ก็จำใจสนับสนุนข้อตกลงสุดท้าย

ประเทศร่ำรวยเคยผิดสัญญาเมื่อปี 2552 ที่จะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้ประเทศยากจน ภายในปี 2563 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ  ดังนั้นจึงกลัวว่าจะไม่ได้รับเงินตามสัญญา แต่ในขณะนี้ คาดว่า ประเทศร่ำรวยจะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2566

ข้อตกลงทั้งหมดจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับการกระทำของรัฐบาลต่าง ๆ ในเวลาต่อมา และเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าข้อตกลงที่เกือบ 200 ประเทศได้ลงนาม จะประสบความสำเร็จหรือไม่

แต่หลังจากการประชุมผ่านไปไม่กี่วัน มีความเห็นจากผู้บริหารของบริษัทพลังงาน ซึ่งรวมถึง “บีพี” ว่า แม้จะให้คำมั่น ในการลดเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในความเป็นจริง น้ำมัน และ ก๊าซ จะยังคงอยู่ในระบบพลังงานโลกอีกหลายปี

ขณะเดียวกัน รมต.พลังงานซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ก็กล่าวว่า ความพยายามทั่วโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงแหล่งพลังงานใดพลังงานหนึ่งโดยเฉพาะ

แค่สองความเห็นนี้ก็พอจะจินตนาการได้ว่า ข้อตกลง COP26 ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้จริง ๆ

Back to top button