ปชต.ปลอมอยากเป็นจีน

UNHCR ประณาม ครั้นอเมริกาไม่เชิญไปร่วม Summit of Democracy 110 ประเทศ แทนที่จะเดือดเนื้อร้อนใจกลับ “ดีใจ” ที่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย


รัฐไทยเข้าสู่ทิศทางที่ปฏิเสธ “ประชาธิปไตยตะวันตก” หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ปฏิเสธกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปลุกระดมไล่ Amnesty ออกจากประเทศ ปฏิเสธกติกาผู้ลี้ภัย ส่งกลับให้ฮุนเซนจำคุก จนถูก UNHCR ประณาม ครั้นอเมริกาไม่เชิญไปร่วม Summit of Democracy 110 ประเทศ แทนที่จะเดือดเนื้อร้อนใจกลับ “ดีใจ” ที่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย

อ้างว่าเป็นเรื่องดีไม่ถูกจีนเขม่น ทั้งที่ยุทธศาสตร์ประเทศต้องรักษาสมดุลระหว่าง 2 มหาอำนาจ ไม่ใช่ซบก้นจีนจนเป็นเบี้ยล่าง

ฝ่ายขวาไทยพยายามปลุกกันว่า ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่ง เป็นแบบจีนก็เจริญได้ เห็นไหม สี จิ้นผิงมีอำนาจเบ็ดเสร็จทำให้จีนเข้มแข็ง ไบเดนอ่อนแอเพราะอเมริกาเป็นประชาธิปไตย สี จิ้นผิงจะลดความเหลื่อมล้ำกระจายความมั่งคั่งให้คนจีน 1.4 พันล้านคน ฯลฯ

ในฐานะคนเคยเข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ รู้สึกโอ้กอ้ากทุกครั้ง ที่เห็นพวกอนุรักษ์ศักดินาไทยชื่นชมนิยมจีนว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็เจริญได้ พรรคคอมมิวนิสต์มีจุดแข็ง ในแง่ฐานความคิดอุดมการณ์ องค์กรจัดตั้ง วิธีคิดวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐเจ้าขุนมูลนายไทยไม่มีทางเลียนแบบได้ ห่างไกลราวฟ้ากับเหว

ส่วนจุดอ่อนคือระบอบพรรคเดียว รวมศูนย์อำนาจ ถ้าลงเหวแบบยุคปฏิวัติวัฒนธรรมก็ไม่มีใครทักท้วงได้ ช่วงชิงอำนาจด้วยการต่อสู้ทางการเมืองภายใน (เช่นสี จิ้นผิงใช้ข้ออ้างปราบคอร์รัปชั่นลดเหลื่อมล้ำ กำจัดคู่แข่งรวบอำนาจ)

รัฐอนุรักษนิยมไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็โทษประชาธิปไตยฝรั่ง ชี้ชวนให้คนหันไปนิยมจีน ทั้งที่เป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้เช่นกัน เป็นแค่รัฐ elite อภิสิทธิ์ชน ที่ยิ่งเหลื่อมล้ำยิ่งปิดกั้นเสรีภาพละเมิดสิทธิมนุษยชน และยิ่งเดินถอยหลัง

รัฐไทยตั้งแต่ 2500 อยู่ใต้ปีกพญาอินทรี เป็นฐานทัพสมัยสงครามอินโดจีน แต่หลังยุคสงครามเย็นก็ปรับตัวเข้ากับกติกาประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุคครึ่งใบจนหลังพฤษภา 35 ไทยเป็นฐานการลงทุน เป็นที่ตั้งองค์กรระหว่างประเทศ (ปณิธาน วัฒนายากร เรียกว่าเจนีวาตะวันออก) ภาคธุรกิจก็เติบโตจากการค้าขายส่งออกเชื่อมต่อกับการค้าโลก

40 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ที่เศรษฐกิจก้าวกระโดด ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ยังอยู่ใต้อำนาจนำ แต่ชนชั้นนำยอมปรับตัวจนดูเหมือนประเทศเปิดกว้าง

กระทั่งเกิดความขัดแย้งกับอำนาจจากเลือกตั้ง รัฐประหาร 2549 “เสียของ” แล้วทำรัฐประหาร 2557 คุ้มครองการเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเพดานอำนาจใหม่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นระบอบที่แตะต้องไม่ได้

รัฐไทยทุ่มทุนทุกด้านเพื่อปกป้องระบอบที่เป็นอยู่ โดยไม่แยแสโลก ปิดประเทศไม่รับกติกาเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน แต่อยากเปิดเศรษฐกิจ อยากให้ต่างชาติมาลงทุน เข้มงวดทางการเมืองทั้งที่ต้องต่อสู้แข่งขันในตลาดเสรี ปิดกั้นความคิดทั้งที่อยู่ในยุคเปิดกว้างเชื่อมต่อเทคโนโลยี อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาสร้างนวัตกรรม

แน่ละว่า ในยุคที่กติกาโลกอ่อนแอ รัฐไทยยังไม่ถึงขั้นพม่า ยังไม่โดนบอยคอตต์หรอก แต่ภาพลักษณ์ต่อโลกภายนอกแย่ลง แรงดึงดูดใจต่อการลงทุนระยะยาวก็น้อยลง

ไทยไม่ใช่จีน ไม่ได้มีอำนาจต่อรองทางการค้ามหาศาล มีแต่จะเป็นเบี้ยล่างจีน ในยุคที่จีนปลุกชาตินิยมเป็นมหาอำนาจกวาดผลประโยชน์ (ล่าสุดก็เพิ่งยึดสนามบินอูกันดาใช้หนี้)

สำคัญกว่าภายนอกคือภายในติดกับดัก ต้องใช้ผู้นำอำนาจนิยม แข็งกร้าวปราบกด ไม่ต้องใช้สมอง รัฐราชการทหารตำรวจกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจมากแล้วฉ้อฉล

ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่กับ “ประชาธิปไตยปลอม” พึ่ง 250 ส.ว. พึ่งนักการเมือง “ซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง” ที่ ส.ว.ด่า ปั่นโปรเจกต์ฟันหัวคิวกันโจ๋งครึ่ม

ระบอบไทย ๆ คือเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้ เป็นจีนก็ไม่ได้ ย้อนไปเป็นเผด็จการก็ไม่ได้เพราะยิ่งย่อยยับ

Back to top button