RATCH มุ่งหาโครงการใหม่

มีการวิเคราะห์กันว่า RATCH มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง โดย 3 ดีลล่าสุดเป็นการทำ M&A ในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว


คุณค่าบริษัท                  

มีการวิเคราะห์กันว่า บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มุ่งหาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างความแข็งแกร่ง โดย 3 ดีลล่าสุดเป็นการทำ M&A ในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว ได้แก่ Paiton เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อินโดนีเซีย ถือหุ้น 45.515% ขนาด 2,045 เมกะวัตต์ (931 เมกะวัตต์) มูลค่าลงทุนรวม 2.5 หมื่นล้านบาท

โดยโรงไฟฟ้านี้มีจุดเด่นที่ผลิตไฟฟ้ามายาวนาน มีกำไรสม่ำเสมอ มีอายุคงเหลือของ PPA อีก 21 ปี และมี Offtaker ที่มั่นคง ทั้งนี้ RATCH ได้เตรียมแหล่งเงินทุนแล้ว ผ่าน Internal Cashflow ราว 8 พันล้านบาท และที่เหลือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมและหุ้นเพิ่มทุนรวม 51% ใน บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) หรือ SCG มูลค่ารวม 3.4 พันล้านบาท (593.5 ล้านหุ้น ในราคาจองซื้อหุ้นละ 5.75 บาท) และมีหน้าที่ต้องทำ Tender Offer หุ้นส่วนที่เหลือด้วย สำหรับ SCG มีจุดเด่นที่โรงไฟฟ้า Cogen ในสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชา โดยขายให้ IUs 70 เมกะวัตต์ และอีก 30 เมกะวัตต์ จะขายให้ EGAT (SPP Replacement) RATCH มองว่าเป็นโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือกับกลุ่มสหพัฒน์ในอนาคต

ขณะที่การซื้อหุ้นเพิ่มอีก 40% จากเดิม 50% เป็น 90% ในบริษัท Fareast Renewable Development Pte. Ltd. (FRD) ซึ่งถือหุ้น 53.21% ในโรงไฟฟ้า Hydro ที่อินโดนีเซีย (Asahan-1) ขนาด 180 เมกะวัตต์ ทำให้ Equity MW เพิ่มเป็น 86 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 1.8 พันล้านบาท

สำหรับผลการลงทุนโดยมองว่าเป็นการลงทุนที่ดี หากเทียบกับส่วนแบ่งกำไรจาก FRD ซึ่งปีนี้เติบโตสูง เพิ่มขึ้น 18% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณน้ำที่สูงขึ้น ด้วยโครงการที่ RATCH เพิ่งเข้าซื้อเป็นโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งสร้างรายได้และกำไรได้ทันที ทำให้จะช่วยหนุนการเติบโตของกำไรปีหน้า

ส่วนก่อนหน้า RATCH ได้เคยแจ้ง SET เกี่ยวกับแผนเพิ่มทุน ด้วยการออกหุ้นใหม่ 769.23077 ล้านหุ้น (53% ของจำนวนหุ้นเดิม) ด้วยการเสนอขายให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Preferential Public Offering : PPO) ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.885 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ โดยกำหนดมูลค่าของการเสนอขายหุ้น PPO ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ RATCH กล่าวว่า กระบวนการเพิ่มทุนน่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยเม็ดเงินที่ได้จะนำไปลงทุนโครงการ Renewable โดยไม่ได้ใช้กับโครงการ Paiton ทำให้มองว่า RATCH น่าจะมีดีล M&A ขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อรองรับเงินเพิ่มทุน

ด้านกำไรงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5,648.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,157.21 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) กำไรปกติอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดีกว่า บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์คาดมาก

โดยหลักจากส่วนแบ่งกำไรที่เติบโตสูง 32% จากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 4.3 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีที่ลดลงมาก การลงทุนใน บ.ร่วม และ JV ออกดอกออกผลชัดเจนในปีนี้ จากปริมาณน้ำที่ดีทำให้กำไรของโรงไฟฟ้า Hydro ที่ลาวและอินโดนีเซียเติบโตสูง โครงการหงสาที่ลาวเดินเครื่องผลิตเต็มที่มากขึ้น การขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้า SPP เดิม และดีล M&A ใหม่ (ABEIF)  และมองว่าการลงทุนใน บ.ร่วมและ JV จะเป็นแรงหนุนกำไรต่อเนื่องในปี 2565 โดยเฉพาะจาก Paiton

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น RATCH แทบไม่เปลี่ยนแปลงในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังประกาศเพิ่มทุน โดยคาดเกิดจาก Overhang เพื่อรอการเพิ่มทุน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่า ณ ราคานี้น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว ด้วยฐานกำไรที่มั่นคง เติบโตจาก M&A และอัตราเงินปันผลที่สูงเกิน 5% โดยคาดว่าราคาหุ้นน่าจะตอบสนองต่อการเติบโตของกำไร ภายหลังการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นแล้ว แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 54 บาท

….

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 652,500,000 หุ้น 45.00%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 77,276,896 หุ้น 5.33%
  3. สำนักงานประกันสังคม 67,913,700 หุ้น 4.68%
  4. สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด 56,792,500 หุ้น 3.92%
  5. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 37,855,165 หุ้น 2.61% 

รายชื่อกรรมการ

  1. นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ประธานกรรมการ
  2. น.ส.ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่, กรรมการ
  3. น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช กรรมการ
  4. นายสุธน บุญประสงค์ กรรมการ
  5. น.ส.นิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการ

Back to top button