มักอ้าง‘แมงเม่า’ลูบคมตลาดทุน

เรื่องค่าคอมมิชชั่นของโบรกฯ ยังไม่จบง่ายๆ


ธนะชัย ณ นคร

 

เรื่องค่าคอมมิชชั่นของโบรกฯ ยังไม่จบง่ายๆ

ล่าสุด บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ (SBITO) ไปแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

เอาผิดกับ 4 โบรกเกอร์ ที่เข้ามาป่วนเว็บไซต์

ส่วนการชี้แจงกับสำนักงานก.ล.ต. เห็นว่า ก็ได้มีการชี้แจงไปวานนี้แล้วเช่นกัน

มีประเด็นที่น่าสนใจ

เพราะการที่สำนักงาน ก.ล.ต.ออกมาพูดเรื่องนี้เหมือนกับว่า ไม่เห็นด้วยกับโบรกฯ ที่คิดค่าคอมมิชชั่นในระดับต่ำ จะทำให้วงการโบรกฯมีปัญหา

ส่วนเรื่องนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย อาจได้รับคุณภาพในการให้บริการที่ไม่ดีพอนั้น

เรื่องนี้อาจเป็นเพียงข้ออ้าง

เพราะทำไมไม่มองกลับไปว่า นักลงทุนรายย่อย จะได้รับประโยชน์จากการที่โบรกฯ คิดค่าคอมมิชชั่นในระดับต่ำ จากที่โบรกฯ แข่งขันกันเรื่องของค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

มาถึงจุดนี้ทำให้สังเกตกันไหม

นั่นคือ ทุกมาตรการที่ออกมาไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ “นักลงทุนรายย่อย” ต่างได้รับผลกระทบแทบจะกลุ่มเดียว

เช่น ก่อนหน้านี้ที่มีการออกมาตรการสกัดหุ้นร้อน นำเรื่องแคชบาลานซ์มาใช้แบบมีความเข้มงวดขึ้น

แม้ในทางปฏิบัติจะค่อนข้างได้ผล

ทว่า นักลงทุนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด หรืออาจสูญเสียโอกาสในการลงทุน นั่นก็คือ นักลงทุนรายย่อย

เพราะรายย่อยก็ไม่ค่อยมีเงินสดมากนักที่จะมาซื้อหุ้นได้หลายๆ ตัว

ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ ตัวเป้งๆ หรือนักลงทุนสถาบัน กองทุนต่างๆ เขาก็มีเงินสดไว้ซื้อขายหุ้นแบบเงินถุง เงินถัง ดังนั้น หุ้นตัวไหนถูกแคชบาลานซ์ และต้องการเข้าลงทุน

นักลงทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ

ทุกวันนี้เหล่าพลพรรคแมงเม่าต่างฉลาดและเก่งมาก

ส่วนใหญ่รู้ทันเกมหุ้น และรู้ความเสี่ยงกับสินทรัพย์ที่ตัวเองเข้าไปลงทุน ตรงไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย

หรือหุ้นหลายตัวที่ถูกลากขึ้นมา รายย่อยก็รู้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ที่ “เจ้ามือ” ลากขึ้นมา ไม่ใช่ไม่รู้

ส่วนที่เข้าไปลงทุนก็เพราะอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ แต่พวกเขาก็รู้ว่ามันมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น เหมือนกับยอมรับสภาพก่อนแล้วว่า หากจะต้องขาดทุน ก็คือขาดทุน

นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ใครลุก (ขึ้น) ช้า ก็จ่ายรอบวง”

หรือหมายถึงใครที่เข้าไปลงทุนในหุ้นที่ถูกลากขึ้นมา แล้วออกช้า อาจด้วยเหตุผลใดก็ตาม กระทั่งราคาร่วงลงมาแล้วไปค้างอยู่บนดอยนั่นแหละ

ส่วนประเด็นเรื่องการคิดค่าคอมฯ ของโบรกฯ หากถามรายย่อยว่า “ชอบไหม”

คำตอบก็คือ “ชอบ”

เพราะรายย่อยเอง เวลาเทรดหุ้น ก็มักจะถูกคิดค่าคอมฯ แบบเต็มๆ และไม่ได้รับส่วนลดเหมือนกับนักลงทุนรายใหญ่

หรือรายใหญ่บางคน ในบางโบรกฯ ก็มีแคมเปญให้เทรดฟรีด้วย

ปัญหาเรื่องค่าคอมมิชชั่น จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

หากสำนักงานก.ล.ต.บอกว่า เป็นเรื่องการทุ่มตลาด หรืออาจเป็นการกีดกันทางการค้า

แต่หากมองอีกด้านหนึ่งว่า การที่โบรกฯมาสุมหัวกัน แล้วกำหนดราคาค่าคอมมิชชั่นกันว่า จะต้องจัดเก็บเท่าไหร่ อย่างไร (ในยุคที่เปิดเสรีค่าคอมฯ) ก็จะถามกลับว่า

แล้วแบบนี้จะเข้าข่ายการ “ฮั้ว” กันหรือไม่

 

Back to top button