IP ลุ้นกำไร Q4/64 นิวไฮ  

มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน Q4/64 สำหรับ IP ว่ากำไรจะอยู่ราว 33 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อน แล้วจะทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง


คุณค่าบริษัท                  

มีการวิเคราะห์ถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 สำหรับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ว่าแนวโน้มกำไรจะอยู่ราว 33 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน แล้วจะทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้จากการรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริมของโรงงานเทวา ฟาร์มา เพิ่มเติมราว 30 ล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น หลังค่าใช้จ่ายปรับปรุงโรงงานลดลง อีกทั้งมองว่าโรงงานผลิตยาโมเดิร์น ฟาร์มาจะเริ่มมีกำไรในไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นไตรมาสแรกอีกด้วย

ดังนั้นเบื้องต้นเชื่อว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2564 อาจมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างแน่นอน

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 244.39 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 110.58 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 25.71 ล้านบาท หรือ 0.09 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 18.46 ล้านบาท หรือ 0.06 บาทต่อหุ้น

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 623.54 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 310.79 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 69.15 ล้านบาท หรือ 0.24 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 49.25 ล้านบาท หรือ 0.17 บาทต่อหุ้น เพื่อให้สะท้อนภาพว่ายอดผลิตยามีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้เมื่อมองไปถึงแนวโน้มในปี 2565 พบว่า บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่าจะเป็นปีที่บริษัทเติบโตสูงอีกปีหนึ่ง ซึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการรับรู้รายได้จากการผลิตยาของโรงงานเทวา ฟาร์มา และโมเดิร์น ฟาร์มาเข้ามาเต็มปี โดยมีการรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริม (OEM) ทั้งจากลูกค้าเดิมของโรงงานเทวา การเป็น OEM ให้กับ TU และเติบโตจากลูกค้ารายใหม่

อีกทั้งการรับรู้รายได้จากธุรกิจร้านขายยา LAB Pharmacy ที่คาดว่าจะทำรายการแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ผ่านการซื้อหุ้นกิจการบริษัท ดรัก แคร์ จำกัด ในส่วน 88.67% มูลค่ารวม 311 ล้านบาท ทั้งนี้ทางนักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการขยาย Supply chain เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ “โรงงาน” ไปถึงปลายน้ำ “ช่องทางจำหน่าย”  และยังสามารถใช้ช่องทางดังกล่าว รองรับโอกาสการขยายธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต เช่น Telepharmacy เป็นต้น

ส่วนของการเข้าทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลงทุนในธุรกิจ Telepharmacy ร่วมกับ บริษัท อินโน ฮับ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OTO โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรออนไลน์ (Telepharmacy) โดยบริษัทจะร่วมทุนในสัดส่วน 50% ทั้งนี้ หากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในไตรมาส 1 ปี 2565

ผลดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์มองเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจ ซึ่งเป็นการต่อยอดด้านปลายน้ำหลังซื้อร้านขายยา ซึ่งหากมี Telepharmacy ทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อลูกค้า อาจสามารถรับยาได้ที่สาขาได้รวดเร็ว ปลอดภัยขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความหลากหลาย เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า เป็นการขยายฐานลูกค้าให้บริษัท

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ยปี 2563-2566 ราว 76% ต่อปี โดยยังไม่รวมอัพไซด์จากการซื้อร้านขายยา ธุรกิจ Telepharmacy และแผนธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

ดังนั้นคงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 29.70 บาท

….

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ 116,373,220 หุ้น 40.35%
  2. นายพิริยรัชต์ ภัทรกิตต์เกษม 24,900,000 หุ้น 8.63%
  3. น.ส.พิมพ์ภัทรา ศุภพัชรวงศ์ 10,640,000 หุ้น 3.69%
  4. นายธีรพงศ์ จันศิริ 8,462,100 หุ้น 2.93%
  5. นายวิทยา เทพนิมิตร 7,561,100 หุ้น 2.62%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายอุดม คชินทร ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ
  2. นายตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร,กรรมการ
  3. น.ส.สุภาภรณ์ ฤกษ์พิทักษ์พาณิช กรรมการ
  4. น.ส.นภาภรณ์ เดชอัคราช กรรมการ
  5. นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button