PTTEP-PTT รับน้ำมันดิบโลกสูง

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลบวกต่อกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT


เส้นทางนักลงทุน

เชื่อว่าอีก 1 ปัจจัยต่างประเทศที่สร้าง Overhang ต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นโลก คือความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่เกิดขึ้นในหลายกลุ่มประเทศอยู่ในขณะนี้ ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน แต่มาคุกรุ่นอีกครั้งในช่วงนี้นั้นเอง อาทิ

  1. ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีประเด็นกับยูเครน & สหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่สงคราม มีชนวนจากการแย่งชิงอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ และข้อพิพาทเรื่องพรมแดน ล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อิงจากสำนักข่าว New York Times รายงานว่า รัสเซียส่งทั้งทหารภาคพื้นดิน พลปืนใหญ่ พลรถหุ้มเกราะ และพลรถถังไปประชิดพรมแดนยูเครน ฯลฯ
  2. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีประเด็นกับกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ในเยเมน พันธมิตรของอิหร่าน โดย UAE เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม OPEC (ราว 4.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 10.3% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในกลุ่ม OPEC+) สัปดาห์ที่แล้ว UAE ถูกโจมตีจากกบฏฮูตี จากโดรนและจรวดมิสไซล์เข้าโจมตีรถขนส่งพลังงานของ UAE และกลุ่มฮูตีได้ออกมาขู่ว่าจะโจมตีสถานที่สำคัญ ๆ อื่น ๆ (ทั้ง 2 ประเทศมีประเด็นพิพาทกันในหลาย ๆ ครั้ง ในช่วงปีก่อนหน้า)
  3. ความตึงเครียดระหว่าง จีน กับไต้หวัน & สหรัฐฯ หลัก ๆ มีประเด็นมาตั้งแต่ในอดีต เริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกพื้นที่ประเทศระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (โดยปัจจุบันจีนต้องการให้เกิด “การรวมชาติ” กับไต้หวัน และเป้าหมายต้องการทำให้สำเร็จ) หากอิงในปี 2564 จีนเพิ่มแรงกดดันด้วยการส่งเครื่องบินทหารเข้าไปในเขตทางอากาศของไต้หวัน หรือ ในเดือน ต.ค. 2564 ในวันเดียวมีการรุกล้ำ 56 ครั้ง ฯลฯ

โดยภาพรวม บล.เอเซีย พลัส ประเมินความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงนี้ คือ ระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลัก ๆ มีผลต่อการลงทุน 1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และ UAE เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม OPEC หากกระแสความตึงเครียดรุนแรง คาดจะเป็นปัจจัยกดดัน Supply น้ำมันลดลงในช่วงสั้น หนุนราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวสูงต่อ

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยทาง บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ให้ราคาเป้าหมาย 149 บาท และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT  ให้ราคาเป้าหมาย 49.50 บาท

อีกฝั่งหนึ่งผลกระทบคือ ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ หากสถานการณ์บานปลาย และผลกระทบต่อตลาดหุ้น โลก และ SET index วันนี้ และสินทรัพย์เสี่ยง คาดความผันผวนต่อราคาช่วงสั้นยังมี และอาจหนุนเงินไหลเข้าไปพักในสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงสั้น อาทิ ทองคำ, พันธบัตร, สกุลเงิน Dollar และ เงินเยน

ส่วนทางด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินยัง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ว่าภาพรวมปี 2565 คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีผลกระทบเล็กน้อยจากการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณที่ไม่ได้เป็นไปตามแผน แต่บริษัทมีแผนรองรับในการเพิ่มกำลังผลิตจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะโครงการบงกช และโครงการอาทิตย์เข้ามาชดเชย รวมไปถึงการรับรู้รายได้จากโครงการ Algeria HBR Phase 1 และโครงการ Oman Block 61 ทำให้บริษัทมีเป้าหมายยอดขายในปี 2565 อยู่ที่ 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คาดว่าราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ (ASP) จะยังคงเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทประกาศแผนลงทุน 5 ปี (2565-2569) เงินลงทุนรวม 2.7 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมีมุมมองเป็นบวก แม้จะมีการใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นกว่าแผนเดิม แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการ Oman Block 61 หลังเข้าลงทุนเมื่อ มี.ค. 2564 รวมไปถึงการพัฒนาโครงการผลิตก๊าซฯ ในแหล่ง Lang Lebah โดยเฉพาะเป้าหมายยอดขายก๊าซฯ เฉลี่ยต่อวัน ที่จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% สูงกว่าแผนเดิม

โดยยังคงยอดขายก๊าซฯ ในสัดส่วน 71% ถึง 72% ของยอดขายเฉลี่ยในปี 2565-2568 ก่อนปรับเพิ่มเป็น 76% ในปี 2569 ยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องเป็นผลมาจากการทยอยเริ่มดำเนินการผลิตโครงการเอราวัณ โครงการบงกชเหนือ โครงการ Algeria HBR Phase 1 และโครงการ Oman Block 61 ในปี 2565 รวมไปถึงในปี 2568 ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตโครงการ LNG ในประเทศโมซัมบิก และปี 2569 เริ่มดำเนินการผลิตโครงการ Lang Lebah (SK410B) ขณะที่แนวโน้มต้นทุนผลิตจะอยู่ที่ 28 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2565 ก่อนทยอยปรับลดลงในปี 2567-2568 มาอยู่ที่ 26-27 เหรียญต่อบาร์เรล โดยประเมินราคาน้ำมันดิบระยะยาวที่ 66 เหรียญต่อบาร์เรล

ทั้งนี้แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 140 บาท อย่างราคาหุ้นยังมี Sentiment เชิงบวกจากราคาน้ำมันดิบที่แข็งแกร่งระยะสั้นตาม Seasonal Demand อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น จากมติที่ประชุม OPEC+ ที่จะเพิ่มกำลังผลิตต่อเนื่องถึง เม.ย. 2565 ในอัตรา 4 แสนบาร์เรลต่อวันทุกเดือน รวมไปถึงกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นนอกกลุ่ม OPEC จะทำให้ปัญหาด้านอุปทานกลับมากดดันราคาน้ำมันดิบในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดีข้อสรุปตึงเครียดรุนแรงระหว่าง รัสเซียกับยูเครน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับกลุ่มกบฏฮูตี คาดจะเป็นปัจจัยกดดัน Supply น้ำมันลดลงในช่วงสั้น หนุนราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวสูงต่อก็ยังเป็นผลบวกต่อกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะอย่าง PTTEP และ PTT

Back to top button