ลุ้นหุ้นเหล็กสดใสต่อปี 65

ในปี 2565 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กน่าจะยังเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังดำเนินการต่อเนื่อง


เส้นทางนักลงทุน

จากข้อมูลนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กโลกช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ได้ลดความร้อนแรงลง เนื่องจากโรงงานเหล็กส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับมาผลิตเหล็กในปริมาณเกือบเป็นปกติแล้ว

โดยล่าสุดข้อมูลต้นเดือน ม.ค. 2565 ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนในประเทศจีนปรับตัวลดลงเหลือ 756-762 เหรียญต่อตัน ลดลง 18-24% จากช่วงที่ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ยากที่ราคาเหล็กจะลงไปต่อเนื่องจนเทียบเท่าระดับราคาในปี 2563 โดยเชื่อว่าราคาเหล็กในจีนและภูมิภาคเอเชียจะขยับลงอีกไม่มาก หรือทรงตัว แล้วจะปรับขึ้นภายในไตรมาส 1/2565 เนื่องจากประเทศจีนปรับนโยบายเรื่องยกเลิกการให้ภาษีส่งออก (Rebate VAT) สินค้าเหล็ก รวมถึงมีการดำเนินการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีต้นทุนในกระบวนการผลิตเพิ่ม รวมถึงสถานการณ์ของต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเช่นกัน

เนื่องด้วยจากการที่ประเทศไทยเผชิญภาวะโควิดมา 2 ปีแล้ว ได้ส่งผลให้ทั้งภาคสังคมและภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัวกันตามวิถีใหม่ (New Normal) เช่น การขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการก่อสร้างที่ต้องลดความแออัดของการใช้แรงงาน และระยะเวลาในการก่อสร้าง ตลอดจนการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ดังนั้น เหล็กจึงเป็นวัสดุก่อสร้างและทางเลือกที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทย

ทั้งนี้ในปี 2565 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กของประเทศน่าจะยังเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% จากปี 2564 เนื่องจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน (Infra Structure) ของภาครัฐที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง การเริ่มฟื้นตัวของภาคส่งออก ภาคบริการ โดยเหล็กเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ พลังงาน บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้เหล็กจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า รวมถึงการควบคุม Supply การผลิตเหล็กในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการของประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เร็วขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูผลกระทบจากกรณีที่กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กสู่ประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากประเทศนอกอาเซียน 5 ประเทศ เป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตและส่งออกเหล็กเป็นอย่างมาก แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ได้มีการเสนอให้ไม่เปิดเสรีเพิ่มเติมจากกรอบความตกลงเดิมที่มีอยู่ รวมถึงอาจจะช่วยส่งเสริมให้มีโอกาสส่งออกมากขึ้นด้วย จากการที่มีแหล่งวัตถุดิบให้สามารถเลือกใช้ได้เพิ่มมากขึ้น

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าหากในปี 2565 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศน่าจะยังเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% จากปี 2564 ทั้งนี้เชื่อว่าหุ้นกลุ่มเหล็กยังคงได้รับประโยชน์อย่างเช่น TGPRO, CEN, CSP, INOX, SAM, TSTH, PERM, GJS, THE, TWP, AMC, BSBM, TYCN, TMT, MILL, MCS เป็นต้น

ทั้งนี้จากหุ้นดังกล่าวมี 2 ตัวที่ทางนักวิเคราะห์มีการประเมินไว้อย่าง บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ  TMT โดย บล.เมย์แบงก์ ประเมินว่าปี 2565 ผู้บริหารตั้งเป้าหมายปริมาณขายเหล็กจะเติบโต 12%  แรงหนุนจาก TMT มีจุดเด่น มีสินค้าครบ ขายสินค้าบวกด้วย Solution และ บริการ ขยายกำลังการผลิตไปเหล็กปลายน้ำมากขึ้น เช่นเหล็กชนิดเรียบพิเศษ  ในขณะที่คู่แข่งมีความไม่พร้อมทางด้านราคาเหล็ก คาดจะปรับตัวลดลงจากปีนี้ไม่มากนักหรือทรงตัวได้

ขณะที่ประเมินอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 8-9% ลดลงจากปี 2564 เท่ากับ 12.6%  โดยคาดยอดขาย 23,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่กำไรจะลดลง 45% เหลือ 835 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานราคาเหล็กทรงตัว

อีกทั้ง TMT เป็นหุ้นเหล็กที่ปันผลเด่น โดยคาดครึ่งปีหลังจะปันผลเพิ่มเป็น 0.70 บาท จากครึ่งปีแรก 0.60 บาท  รวมปันผลกำไรปี 2564 เท่ากับ 1.30 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน 12.7% ประเมินราคาเป้าหมายปี 2565 ได้เท่ากับ 11 บาท  แนะนำ “ถือ” เพื่อรับปันผล

บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS โดย บล.เมย์แบงก์ ประเมินว่าในปี 2565 คาดผลประกอบการจะลดลง เนื่องจากงานบางส่วนรับรู้เร็วขึ้นในปีก่อน คาดปริมาณส่งมอบเหล็กจะลดลงเหลือ 66,500 ตัน รวมยอดรับรู้รายได้ 5,207 ล้านบาท ลดลง 23% และคาดจะมีกำไรเท่ากับ  1,091 ล้านบาท ลดลง 21%  MCS เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ได้งานเพิ่ม 2 โครงการ น้ำหนักรวม 3.4 หมื่นตัน ทำให้ Backlog เพิ่มเป็น 1.14 แสนตัน รองรับรายได้ถึงปี 2566 และหลังปิดงบปีในเดือน มี.ค. ผู้บริหารมีแผนบินไปญี่ปุ่นเพื่อเจรจางานอีก 2 โครงการ น้ำหนักประมาณ 2-3 หมื่นตัน จะช่วยเติม Backlog

ทั้งนี้คาด MCS จะจ่ายปันผลอีก 0.7 บาท  รวมเป็นปันผลจ่ายกำไรปี 2564 เท่ากับ 1.47 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน 10% ปี 2565 แม้ว่าคาดกำไรจะลดลง แต่ยังซื้อขาย P/E ต่ำเพียง 6.4 เท่า มีอัตราเงินปันผลตอบแทน 8.6% คงแนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย  20 บาท

อย่างไรก็ตาม หากราคาเหล็กยังคงปรับตัวขึ้นและความต้องการยังมีมากขึ้นในปี 2565 เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มเหล็กจะขานรับอย่างในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาได้อย่างสดใส!!!

Back to top button