ถึงเวลาสะสมหุ้นดี ราคาไม่แพง

กรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครน ได้สร้างความปั่นป่วนกับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกให้ผันผวนปรับตัวทรุดลงอย่างหนัก


เส้นทางนักลงทุน

กรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครน ได้สร้างความปั่นป่วนกับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกให้ผันผวนปรับตัวทรุดลงอย่างหนักสวนทางกับราคาน้ำมันดิบ และราคาทองคำที่พุ่งทะยานขึ้นแรง นับเป็นความเสี่ยงด้านการลงทุนอันเป็นผลจากความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแม้ตลาดหุ้นจะรีบาวด์ แต่การรีบาวด์รอบนี้จะแข็งแกร่งหรือไม่??? แล้วหุ้นไทยไหลรูดลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง???

“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สำรวจความคิดเห็นของบรรดาเซียนหุ้นพอร์ตพันล้านได้คำตอบว่า ส่วนใหญ่ไม่รู้สึก “วิตกกังวล” โดยเชื่อมั่นว่าการรีบาวด์ของดัชนีตลาดหุ้นไทยรอบนี้มีความแข็งแกร่งมากเพียงพอ

และเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นนี้ ด้วยการย้อนกลับไปดูจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นเปรียบเทียบกับภาวะสงครามที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 3 ครั้งล่าสุด ได้แก่ เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2544

กับเหตุการณ์สงครามอิรัก หรือ Iraq War เมื่อปี 2546 ที่กองกำลังผสมทางทหารจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและโปแลนด์ บุกเข้ายึดครองอิรักด้วยการโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน

และวิกฤตการณ์ไครเมีย (Crimea Crisis ) ที่รัสเซียได้รุกรานและผนวกคาบสมุทรไครเมียมาจากยูเครน เมื่อปี 2557 แล้วจะเห็นว่าสถานการณ์ทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นในช่วงแรกของความตึงเครียดเท่านั้น

โดยในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 มีการปรับตัวลดลง 11.60% ในกรณีสถานการณ์ 9/11 และลดลง10.98 % ในสถานการณ์สงครามอิรัก และ ลดลง 4.20% ในสถานการณ์ไครเมีย ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับตัวลดลง 17.20%, 0.42%, และ 2.15% ตามลำดับ จาก 3 สถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อเจาะลึกลงไปพิจารณาถึงช่วงเวลาที่เกิดการปะทะกัน จะพบว่าเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ใกล้ถึงจุดพีคเพื่อก้าวผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วทั้ง 3 เหตุการณ์เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าตลาดหุ้นจะใช้ระยะเวลาไม่นานในการฟื้นตัวกลับมา ณ จุดเดิม เช่น ตลาดหุ้น S&P 500 ใช้เวลาฟื้นตัวกลับในแต่ละเหตุการณ์ประมาณ 30-45 วันเท่านั้น ส่วนหุ้นไทย ใช้เวลา 50 วัน, 29 วัน และ 47 วันตามลำดับ หรือ คิดเป็นเฉลี่ยในแต่ละเหตุการณ์ราว 35 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในทางตรงและทางอ้อม ประเมินได้ดังนี้

  1. ผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ คาดยังมีผลกระทบจำกัด เพราะไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียเพียง 0.4% ของยอดส่งออกรวม ส่วนยอดนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมาไทย มีสัดส่วน 0.7% ของยอดนำเข้า ซึ่งจากข้อมูลนี้พบว่า ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าอยู่ 23,152 ล้านบาท
  2. ด้านการลงทุน ไทยยังได้รับผลกระทบจำกัดเช่นกัน เพราะจากการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการลงทุนทางตรง อิงข้อมูลจากยอดของ BOI และการลงทุนทางอ้อมในตลาดหุ้นไทย อิงฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. ) พบว่ารัสเซียและยูเครนไม่ติด 10 อันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย
  3. ด้านการท่องเที่ยวก็มีผลกระทบจำกัดเช่นกัน เมื่ออ้างอิงฐานข้อมูลในปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก โดยนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เข้ามาในไทย มีจำนวน 1.5 ล้านคน หรือเพียง 3.7% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน นับเป็นอันดับที่ 7 ของยอดนักท่องเที่ยวรวม แต่สร้างรายได้มากเป็นอันดับ 3 หรือราว ๆ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ระบุว่ายอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยระหว่างวันที่ 1-21 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา อันดับ 1 คือ รัสเซีย จำนวน 12,563 คน คิดเป็น 8.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขออนุญาตเข้าประเทศ 144,610 คน  แต่เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยภาพรวม ยังอยู่ในฐานต่ำเพียง 7-8% ดังนั้นผลกระทบต่อรายได้ภาคบริการ ณ ปัจจุบันจึงถือว่าไม่มาก
  4. ผลกระทบทางอ้อม เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 32% ผลักดันให้ต้นทุนการขนส่งและการผลิตของภาคเอกชนสูงขึ้นตาม และหากสงครามยืดเยื้อ จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยนี้อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เติบโตไว้ที่ 3.5-4.5 % และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เติบโตที่ 3.4%
  5. ด้านภาวะเงินเฟ้อ เมื่อราคาพลังงานและโลหะเร่งตัวขึ้น จะกระตุ้นเงินเฟ้อในรูปแบบ Cost pus inflation หนุนให้ Bond Yield ทั่วโลกและไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อของไทยที่แม้จะเร่งตัวขึ้นแตะ 3.2% ในเดือน ม.ค. 2565 แต่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ 5-6% แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจึงยังอยู่ในระดับจำกัดด้วย
  6. การไหลเข้าของกระแสเงินทุน เนื่องด้วยต่างชาติยังกลับมาซื้อสุทธิไม่ถึงช่วงก่อนเกิดโควิด และต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยน้อยกว่าการเข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จึงคาดว่าต่างชาติยังจำเป็นต้องซื้อหุ้นไทยเพื่อปรับสมดุลอีกราว 4-5 หมื่นล้านบาท
  7. นอกจากนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวรับของดัชนีตลาดหุ้นไทยในกรอบ 1,620-1,650 จุด สะท้อนว่ามีความแข็งแกร่งมาก ท่ามกลางสถานการณ์การปะทะกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว เมื่ออ้างอิงกับสถานการณ์ในอดีต

ดังนั้นท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส  ณ ปัจจุบันจึงถือเป็นโอกาสของคนมีเงินเย็นในการเข้าเก็บสะสมหุ้นพื้นฐานดี ราคาไม่แพง

Back to top button