SCGP ราคาหุ้นเหวี่ยงแรงกว่าปันผล

นักลงทุนที่มองเห็นประโยชน์จากการเติบโตของ SCGP ในยามที่ราคาหุ้นถดถอยลง น่าจะมองเห็นประโยชน์และรู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ “ของดีราคาถูก”


หลังจากที่ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ระดับนำของอาเซียนที่เติบโตไม่หยุดอย่าง SCGP หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ในเครือปูนซิเมนต์ไทย ประกาศขึ้นเครื่องหมาย XD ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนสำหรับรับรองสิทธิ์ผู้ถือหุ้นที่จะได้รับเงินปันผลในรูปเงินสดอีก 0.40 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับที่จ่ายงวดกลางปีเดือน สิงหาคมปีก่อนไปแล้ว 0.25 บาท ถือว่าจ่ายน้อยมาก ราคาหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดก็ร่วงลงไปมากกว่า 2 บาท ใต้ 60.00 บาท

การร่วงของราคาที่รวดเร็วดังกล่าว ถือว่าไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะอธิบาย เพราะในแง่แผนธุรกิจ กำไรสุทธิและความสามารถทำกำไร (วัดจากอัตรากำไรสุทธิ) ยังไปได้สวย และคาดหมายว่าจะเป็นไปตามแผนทำยอดขายเพิ่มขึ้น และกำไรเพิ่มขึ้นในปีนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์ขาเชียร์ก็ยังคงให้ราคาเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 72.00 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ปรับขึ้นจากเป้าหมายปี 2564 ที่ค่อนข้างต่ำคือ 53.00 บาท (ซึ่งถือเป็นการให้ราคาคาดเดาที่ผิด)

คำถามจึงมีอยู่ว่าจะเชื่อนักวิเคราะห์หรือไม่ควรเชื่อและคำตอบก็ยังคงไม่ชัดเจนเหมือนเดิม

แม้ราคาหุ้นยามนี้ของ SCGP จะถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน ที่ขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับต้นปี แต่ก็ยังคงสูงเมื่อคิดเทียบเคียงกับมาตรฐานของตลาดเนื่องจากค่าพี/อีอยู่ที่ระดับ 30 เท่า และราคาล่าสุดสูงกว่า 2.2 เท่าของบุ๊กแวลูที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับล่าสุด 22.56 บาท

ราคาของ SCGP จึงเป็นราคาที่นักลงทุนต้องเสี่ยงเอาเองเพราะราคาที่สูงทำให้ราคาหุ้นมีขีดจำกัดขาขึ้นต่อไป ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนเป็นหลัก เพราะหุ้นรายนี้ มักจะมีคำถามว่าราคาถึงไหนจึงจะเรียกว่าราคาแพงเกินหรือถูกเกิน

ความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนจำต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบริษัทนี้ยังต้องการขยายกิจการต่อไปให้ได้ในฐานะหัวหอกทะลวงฟันที่สำคัญของตลาด

ที่ผ่านมา ธุรกิจของ SCGP ถือเป็นแบบหนึ่งของค่ายใหญ่ปูนซิเมนต์ที่เลือกใช้การซื้อเพื่อขยายกิจการมาไม่นาน นักการแยกตัวไปสร้างการเติบโตในแบบลัดผ่านการซื้อกิจการระหว่างประเทศที่เปิดตลาดแข็งแกร่งทางลัด ทำให้กำไรเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 มีตัวเลขกำไรสูงสุดนับแต่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยมากถึง 8,294 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรในไตรมาสแรกนี้ของปี ที่มากกว่า 3.0 พ้นล้านบาท

และหากสิ้นปีนี้ไม่ถูกอุปสรรคบั่นทอนลงไป น่าจะทำยอดขายทะลุ 1 แสนล้านบาท ทำกำไรสุทธิได้ทะลุ 9.5 พันล้านบาท

ในต้นปีนี้ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SCGP เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 แต่บริษัทยังคงมีมาตรการการป้องกันโรคระบาดเข้มข้น พร้อมบริหารงานแบบยืดหยุ่นสอดคล้องกับสถานการณ์ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน สื่อสารกับพนักงานอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุน เพื่อรองรับทุกสถานการณ์และความต้องการลูกค้า แล้วมั่นใจว่า ยังรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ และรายได้คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากการรับรู้รายได้ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย และ SOVI ในประเทศเวียดนาม รวมถึงโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะทยอยเปิดดำเนินการในไตรมาส 2 จนถึงปลายปีนี้

หากกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีกำลังการผลิตเต็มที่ปี 2565 รายได้จะเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท และการเข้าซื้อหุ้น 70% ของ Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงมีการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ปีนี้ SCGP ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตกว่า 10% ในฐานะของผู้นำโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน จากปีก่อนที่มีรายได้ รวมทั้งสิ้น 93,388.33 ล้านบาท โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนในยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น โดยบริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ 20,000 ล้านบาท และยังมีวงเงินอีก 9,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมไว้สำหรับการขยายในเวียดนามอีก

ตัวเลขการเติบโตขางเศรษฐกิจของอาเซียนในภาพรวม และการขยายกิจการเชิงรุกในทางลัด ทำให้การเติบโตของรายได้และกำไรของ SCGP น่าจะก้าวหน้าไป และกำไรพิเศษจากวิศวกรรมการเงินของการทำ M&P น่าจะช่วยให้มูลค่าทางบัญชีของบริษัทนี้เพิ่มขึ้น และราคาวิ่งหนีบุ๊กแวลูขึ้นไปอีก โดยค่าพีอีอาจจะเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

นักลงทุนที่มองเห็นประโยชน์จากการเติบโตของ SCGP ในยามที่ราคาหุ้นถดถอยลง น่าจะมองเห็นประโยชน์และรู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ “ของดีราคาถูก”.…ส่วนคนที่มองโลกในทางลบก็คงขายทิ้งออกมา

เข้าข่าย “สองคน ยลตามช่อง” ธรรมดาโลก

Back to top button