เฟด-สงคราม-จีนล็อกดาวน์ หนุน ‘Sell in May’

“Sell  in  May” เป็นปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างเชื่อว่าจะมีแรงเทขายหุ้นออกมาในเดือน พฤษภาคม ของทุกปี


เส้นทางนักลงทุน

“Sell in May” เป็นปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างเชื่อว่าจะมีแรงเทขายหุ้นออกมาในเดือน พฤษภาคม ของทุกปี ดังนั้นในเดือนนี้ ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) จึงมักจะปรับตัวลงแรง ทำให้นักลงทุนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ ขณะที่ในเดือน พฤษภาคม 2565 นี้ นับเป็นปีที่ตลาดจับตามองปรากฏการณ์ “Sell in May” เป็นพิเศษ เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยลบสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่า SET Index ปรากฏการณ์ “Sell in May” ทำให้ผลตอบแทนหุ้นไทยติดลบในเดือนนี้รวม 6 ครั้ง เป็นสัดส่วน 60% และปรับขึ้น 4 ครั้ง หรือ 40%

หากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนเฉลี่ย เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือน พฤษภาคม จากสถิติใน 2 ปีล่าสุด (2563-2564) ตลาดหุ้นไทยยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น 3 ปี (2560-2562) ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีในเดือน พฤษภาคม อยู่ที่ -0.53%

แต่ในปี 2565 นี้ โอกาสเกิด “Sell in May” จะมีมากขึ้น เพราะมีปัจจัยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่าง วันที่  3-4 พฤษภาคม แม้ตลาดจะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.5% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ก็ตาม แต่ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้างไม่มากก็น้อย โดยในการประชุมเฟดรอบนี้ตลาดยังเกาะติดอย่างใกล้ชิดด้วยว่าเฟดจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในรอบถัดไป และตลอดทั้งปีนี้รุนแรงอย่างไร จากก่อนหน้านี้ได้ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นราว 6-8 ครั้ง

นอกจากนี้การที่เฟดจะทยอยปรับลดขนาดงบดุล 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อถอนสภาพคล่องออกจากระบบ  จะทำให้เกิดสภาพคล่องตึงตัวอีกด้วย

การตัดสินใจของเฟดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า จีดีพีโลกจะเติบโตลดลงเหลือ 3.6% จากเดิม  4.4% ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 1.4% แล้ว ดังนั้นหากไตรมาส 2 ปีนี้จีดีพีสหรัฐฯ ยังคงติดลบอีก จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็มีแนวโน้มในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่จีดีพีไทยก็ถูกไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการเติบโตใหม่จาก 4.1% เหลือ 3.3%

อีกหนึ่งปัจจัย คือ ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เชื่อมโยงทำให้ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ อาหารและราคาวัตถุดิบถีบตัวสูงขึ้น ตลอดจนปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีนจนต้องล็อกดาวน์ในหลาย ๆ เมืองใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อโกลบอลซัพพลายเชน จนทำให้การค้าขายสะดุดลง โดยตลาดประเมินว่าทั้งปีนี้จีดีพีจีนจะขยายตัวได้ 4% ต้น ๆ ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 5.5%

สำหรับประเทศไทยนอกจากจะต้องเผชิญกับปัจจัยเงินเฟ้อสูงไม่แตกต่างจากทั่วโลกแล้ว ไทยยังประสบปัญหาเงินบาทอ่อนค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์อีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เงินทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หรือถ้าเลวร้ายสุดเงินทุนต่างชาติอาจไหลออกจากตลาดหุ้นไทย เพราะในภาวการณ์เช่นนี้ ต่างชาติจะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง

โดยนับตั้งแต่เดือน มกราคม-เมษายน  2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสะสมในตลาดหุ้นไทย 121,733.35 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนในประเทศที่มียอดขายสุทธิ โดยเฉพาะกองทุนในประเทศขายหนัก 95,318.42 ล้านบาท, พอร์ตโบรกเกอร์ขาย 298.36 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปขาย  26,116.55 ล้านบาท

นอกจากนี้ไทยยังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ มาตรการ เช่น คนละครึ่งเฟส 4 และยกเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท แม้ไทยยังจะมีเม็ดเงินเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7.4 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่ารัฐบาลจะใช้โครงการที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ทำให้ไทยอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25%

ด้าน เจ.พี.มอร์แกน ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของตลาดหุ้นไทยจากระดับ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) สู่ระดับ “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) ให้สาเหตุว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า อันเป็นผลมาจากปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์โควิดในจีน

ทั้งนี้ เจ.พี.มอร์แกน ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเผชิญแรงต้านมากมายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลก และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง ประกอบกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จนทำให้ต้องปรับน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นไทยลง

โดยข้อมูลจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ระบุว่า ในปี 2562 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำเงินให้กับเศรษฐกิจไทยประมาณ 380,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 11.8% ของจีดีพีไทย และในปีเดียวกันนี้ หรือก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวน 40 ล้านคน โดย 1 ใน 4 มาจากประเทศจีน

แต่ในปีนี้ ทางการไทยคาดการณ์ว่า จะมีนักเดินทางต่างชาติเข้ามาในประเทศราว 5-10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากมาเลเซียและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือน เมษายน หลังรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด แต่เศรษฐกิจของประเทศยังคงถูกกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่แพงขึ้น

โบรกเกอร์ประเมิน “Sell in May” ในปีนี้ มีโอกาสกด SET index ไปที่ 1,600 จุดได้ แต่หากไม่เกิด SET index ก็มีโอกาสขยับขึ้นไป 1,700 จุด ได้เช่นกัน  ภายใต้สมมติฐานว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ทยอยแจ้งออกมาเพิ่มเติมดีเกินคาด จนทำให้โบรกเกอร์ต้องปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ขึ้น  ขณะที่รัฐบาลอาจมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้จะต้องมาจากการขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก

ดังนั้นธีมการลงทุนในหุ้นที่น่าสนใจและเป็นโอกาสในการทยอยสะสม กลุ่ม Domestic Play, กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

Back to top button