ดาวโจนส์เป็นหวัด

การร่วงลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ จึงถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่น่ายินดีคือ ลบไปเพียงแค่เล็กน้อย เท่ากับว่าเมื่อดาวโจนส์เป็นหวัด


ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อไรที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (รวบรวมเอาหุ้นมาร์เก็ตแคปชั้นนำ ในอีกละธุรกิจในตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงเวลาหนึ่งมาทำดัชนีอย่างง่ายจากหุ้นแค่ 30 ตัว เพื่อสะท้อนทิศทางหลักของ “คุณตลาด” มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกจะวิ่งไปในทิศทางเดียวกันในลักษณะกระจุยกระจายหากเป็นเช่นอดีต หากดัชนีดาวโจนส์ ลบมากถึงเกินกว่า 1,000 จุดในวันเดียว หุ้นทั่วโลกยกเว้นตลาดหุ้นมุมไบหรือบอมเบย์เก่า) จะวิ่งเป็นขาลง กันทั่วหน้า จนเป็นคำกล่าวขานกันว่า หากดาวโจนส์เป็นหวัด ดัชนีตลาดหุ้นอื่นจะต้องเข้าห้องผู้ป่วยวิกฤตหรือ ICU กันทีเดียว

ถึงวันนี้ ดาวโจนส์จะมีอิทธิพลของตลาดหุ้นทั่วโลกจะลดน้อยถอยลงไปมาก เพราะอดีตไม่ได้สะท้อนปัจจุบัน (ดังที่แฟนบอลทั่วไปโดยเฉพาะ “เด็กผี” หรือ ปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยามนี้ท่องบันทึกสัปดาห์อย่างชอกช้ำใจเพราะพิษของอาการฮิสทีเรียประเภท มาโซคิสม์หมู่ขึ้นสมอง) ชอบพูดกันเสมอว่า สถิติไม่ได้สะท้อนถึงปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นดาวดวงอื่น ๆ ที่เคยเป็นบริวารของดาวโจนส์ก็เลยออกอาการต่างกันไป

ราคาหุ้นและดัชนีตลาดวันนี้ จะถูกถือเป็นบททดสอบสำคัญอีกครั้งของอิทธิพลของดาวโจนส์ต่อตลาดหุ้นอื่น ๆ หลังจากเกิดปรากฏการณ์ “วันแดงเดือด” จากการที่หุ้นหลักในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พากันดิ่งจนแดงทั่วทั้งกระดาน ยังผลให้เมื่อปิดตลาดบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผลให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงกว่า 1,000 จุด เพียงแค่ 1 วัน หลังจากประธานเฟดแถลงขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรง 0.5% (แทนที่จะเป็น 0.25% ดังเช่นที่ผ่านมา) เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน มากสุดในรอบ 40 ปี ถือเป็นการปิดฉากของช่วงเวลาดอกเบี้ยต่ำติดพื้น และเริ่มสู่ยุคดอกเบี้ยแพง เต็มตัว

ไม่เพียงแต่ดัชนีดาวโจนส์ลงแรงอย่างเดียว ดัชนี S&P 500 (ที่คิดขึ้นมาทีหลังแต่ท่าทางดีกว่าดาวโจนส์ เพราะใช้หุ้นถึง 500 ตัวคำนวณ) ก็ร่วงด้วยแถมยังพาดัชนีขาขึ้นระลอกใหม่ตกลงถึง 3.7% ราคาหุ้นของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ 95% ติดลบจนแดงไปทั้งกระดาน ขณะที่ดัชนีหุ้นแนสแดก ร่วงแรงมากถึง 5.1%

การร่วงของดัชนีดาวโจนส์ เกิดจาก “นักอ่านริมฝีปากเฟด” ที่ทรงอิทธิพล (หมายงถึงนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท ที่ช่ำชองกับการตีความถึงเงื่อนงำเบื้องหลังการที่เฟดฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับลงหรือกระทั่งการคงอัตราดอกเบี้ยยังจะส่งผลต่อทิศทางของตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนรวมทั้งตลาดเก็งกำไรอื่น ๆ) ออกคำแนะนำเชิงบอกใบ้ว่า คำแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าเฟดฯ ที่แม้เอ่ยปากว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะไม่ใช้ยาแรงเกิน 0.5% มีนัยที่ส่งสัญญาณทางลบมากกว่าบวก

นักอ่านริมฝีปากเฟดฯ ได้คาดเดาบ่งบอกเป็นนิสัยว่าแม้เอเชียจะปรับปรุงทางให้กับภาวะอุปสงค์ซึม และเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมา โดยการจะใช้มาตรการเข้มงวดนี้ต่อ จนกว่าเงินเฟ้อกลับมาอยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของรัฐมาก

การขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ครั้งล่าสุดอาจไม่พอที่จะควบคุมเงินเฟ้อ จึงเปิดช่องให้โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงเวลาที่เหลือซึ่งเป็นไปได้ที่จะดอกเบี้ยจะพุ่งแตะระดับ 2.75% ในปลายปีนี้

แรงขายหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งค่าพี/อี และหนี้ก็สูงมากเกินค่าเฉลี่ยตลาด ทำให้ราคาหุ้นบริษัท เมตา (เจ้าของเฟซบุ๊ก) ร่วงลงเกือบ 6% ราคาหุ้นบริษัทแอมะซอน ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ร่วง   6.4% ส่วนอัลฟาเบต (บริษัทแม่ของกูเกิล หุ้นดิ่งแรงถึง 5.3%) และบริษัทอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ล้วนร่วงไปตาม ๆ กัน เช่น Etsy ร่วงลงเกือบ 18% และ eBay ลดลง 8% รวมทั้งหุ้นอย่าง Netflix และไมโครซอฟท์ ที่ยังไม่ยอมฟื้นตัว

ขณะเดียวกันมีข่าวลบ ว่าผลิตภาพของแรงงาน (ความสามารถทางการผลิตเพิ่มขึ้นเทียบกับค่าจ้าง) ของสหรัฐฯ ลดลงถึง 7.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าเป็นการดิ่งลงเร็วที่สุดในรอบ 75 ปี นับจากปีหลังเกิดสงครามโลก เมื่อปี 2490 (ค.ศ. 1947) ก็ยิ่งตอกย้ำอีกว่าผลกำไรในไตรมาสถัด ๆ ไปจะยิ่งเสียหายต่อไปอีก

ข่าวลบเช่นนี้สกัดกั้นขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นง่ายดายยิ่งนัก นอกเหนือจากข่าวร้ายเรื่องโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดและสงครามยืดเยื้อในยูเครนและราคาพลังงานที่สูงน่าวิตกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การร่วงลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ จึงถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่น่ายินดีคือ ลบไปเพียงแค่เล็กน้อย เท่ากับว่าเมื่อดาวโจนส์เป็นหวัด ตลาดหุ้นไทยแค่จามพอเป็นพิธีเท่านั้น

Back to top button