หวั่นอาเซียนวุ่นวายราคาอาหารพุ่งไม่หยุด

การปรับขึ้นราคาสินค้า ส่งผลให้ราคาอาหาร-ค่าครองชีพทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นไป เพราะผู้ประกอบการจะแบกรับภาระไว้ได้บางส่วนเท่านั้น


เส้นทางนักลงทุน

ท่ามกลางความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ผลักดันให้ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ได้สร้างความวิตกกังวลว่าจะเป็นปัจจัยสร้างปัญหาให้โลกต้องเผชิญความเสี่ยงรุนแรงที่อาจจะเกิดความวุ่นวายในสังคม จากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

โดยล่าสุด (6 พฤษภาคม) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกรายงานระบุว่า ราคาอาหารโลกปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือน เมษายน หลังทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือน มีนาคม ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาอาหารขององค์การฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 158.5 จุด ในเดือน เมษายน ลดลง 0.8% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มีนาคม มีดัชนีย่อย 2 ใน 5 ที่ปรับลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงมา

ในบรรดาดัชนีย่อยทั้งหมดนั้น ราคาเมล็ดพืชและธัญพืช ซึ่งเป็นองค์ประกอบขนาดใหญ่ที่สุดในดัชนีราคาอาหารโลก ร่วงลง 0.4% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการส่งออกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นของอเมริกาใต้ ทว่าแรงกดดันต่อราคาข้าวสาลียังคงสูง เนื่องจากวิกฤตยูเครนและปัญหาอุปทานจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับราคาข้าวที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในพื้นที่เพาะปลูกข้าวของทวีปอเมริกา

ส่วนราคาน้ำมันพืชร่วงลง 5.7% สาเหตุเกิดจากอุปทานในพื้นที่สำคัญ ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ขณะที่ดัชนีย่อยอื่น ๆ ต่างเพิ่มขึ้นจากระดับในเดือน มีนาคม โดยราคาผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 0.9% เนื่องจากขาดแคลนอุปทานในยุโรปและโอเชียเนีย ราคาเนื้อสัตว์พุ่งขึ้น 2.2% เพราะราคาสัตว์ปีก, เนื้อหมู, เนื้อวัวปรับตัวสูงขึ้น ด้านราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 3.3%

ท่ามกลางสถานการณ์ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ “โมฮัมหมัด ฟาอีซ นากูทา” นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา ซีเคียวริตีส์ (BofA Securities) มีมุมมองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดความวุ่นวายในสังคม หากราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากจำนวนเงินที่คนในประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ใช้จ่ายไปกับค่าอาหารมีสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

แต่ภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารในอาเซียนยังอยู่ในวงจำกัด และมีความเสี่ยงน้อยกว่าในอดีตเล็กน้อย เพราะพึ่งพาการค้าในภูมิภาคในปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลออกมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อด้านราคาอาหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคจะพุ่งสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเดือนหรือไตรมาสข้างหน้า และเตือนว่า ราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นอยู่ดีในท้ายที่สุด แม้รัฐบาลหลายประเทศจะหวังว่า ราคาสินค้าจะค่อย ๆ ขยับลง

ความต้องการในตลาดจะมีส่วนผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจและปริมาณการใช้บริการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับ และจะหาทางผลักภาระด้านต้นทุนบางส่วนไปให้กับผู้บริโภค และเมื่อรวมกับเงินเฟ้อด้านราคาน้ำมันและอาหารทั่วโลก ก็จะทำให้เงินเฟ้อโดยรวมในภูมิภาคสูงขึ้นในที่สุด โดยภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในเดือน มีนาคม จากระดับ 3% ในเดือน กุมภาพันธ์

สำหรับประเทศไทย วิกฤตต้นทุนกดดันผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่างแห่ยื่นกรมการค้าภายในขอขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกมิติ ทั้งวัตถุดิบ, แพ็กเกจจิ้งและค่าขนส่ง อันเป็นผลพวงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผ่านราคาน้ำมันดิบโลกและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น กดดันให้สถานการณ์ปรับขึ้นราคาสินค้ารุนแรงมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะเข้ามาดูแลด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้ขยับราคาจากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็น 35 บาทต่อลิตรแบบขั้นบันไดก็ตาม

รวมทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ช่วงเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2565 เพิ่มอีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย เพิ่มความกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น

องค์กรที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาขอความร่วมมือสมาชิกในการตรึงราคาสินค้าให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล  แต่ยังมีความกังวลกันว่า เมื่อวัตถุดิบที่สต๊อกไว้หมดลง ขณะที่วัตถุดิบล็อตใหม่ที่เข้ามาจะมีราคาปรับขึ้นไปมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้วผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขายได้ อาจทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ หรืออาจจะถึงขั้นขาดทุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยให้หลายสินค้าต้องปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยจะมีสต๊อกวัตถุดิบประมาณ 3-6 เดือน แต่ในปีนี้เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์เป็นต้นมา เริ่มเห็นสัญญาณราคาสินค้าเริ่มแพงขึ้น   และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้ต้นทุนสต๊อกเดิมมาถัวเฉลี่ย ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยขยับสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงเริ่มขยับราคาขายสินค้าขึ้นตาม

แน่นอนว่าการปรับขึ้นราคาสินค้า ส่งผลให้ราคาอาหาร-ค่าครองชีพทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นไป เพราะผู้ประกอบการจะแบกรับภาระไว้ได้บางส่วนเท่านั้น  จึงต้องจับตามองกันต่อไปหากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือปีหน้า นั่นย่อมจะส่งผลต่อ “ต้นทุนราคาพลังงาน และราคาอาหารโลก” ให้พุ่งขึ้นไปยาวนานอีกด้วย

Back to top button