‘ยูเครน’ ครอบงำ ‘WEF’

ยังไม่รู้ว่า การประชุม WEF ในปีนี้ จะมีผลกระทบที่จะช่วยยุติสงครามในยูเครนได้หรือไม่ หรือมีการถกเถียง หารือหรือมีข้อเสนออะไรใหม่


หลังจากที่การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้เจอโรคเลื่อนมานานสองปี ในที่สุดการประชุมที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ถือว่ามีความสำคัญมากสุดงานหนึ่งของโลก ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลา 4 วัน

การประชุม WEF ซึ่งจัดมายาวนานถึง 50 ปี แล้ว จะมีทั้งผู้นำธุรกิจและผู้นำโลกและนักลงทุนที่ทรงอิทธิพลเข้าร่วม และประเด็นในการหารือส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก แต่ในระยะหลัง ๆ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมักเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมอยู่เสมอ แต่พอโควิดระบาด ก็ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของงานในปีที่แล้ว

แต่สองปัญหานี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมในปีนี้อีกต่อไป อาจจะเพราะว่า เรื่องสภาพอากาศเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันไปในระยะยาว ส่วนปัญหาโควิดก็เริ่มซาลง และหลายประเทศได้เริ่มเปิดประเทศกันแล้ว  ดังนั้นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนมากกว่าสำหรับปีนี้จึงอยู่ที่ “ยูเครน” ซึ่งยังคงบอบช้ำอย่างหนัก หลังจากที่รัสเซียได้เข้ารุกรานตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ วิกฤติยูเครนได้ยืดเยื้อมาเกือบจะสี่เดือนแล้ว แม้ว่ามีความพยายามคว่ำบาตรรัสเซียอย่างกลมเกลียวมากกว่าที่เคยมีก็ตาม

การประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยการปราศรัยผ่านทางวิดีโอของประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ว่าโลกต้องเพิ่มการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพื่อยับยั้งประเทศอื่น ๆ จากการใช้ “กำลังอันเหี้ยมโหด” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง

ที่พักรับรองที่เคยไว้ต้อนรับผู้แทนจากรัสเซีย ได้ถูกมูลนิธิยูเครนแปลงโฉมเป็น “บ้านอาชญากรรมสงครามของรัสเซีย” โดยมีการแสดงภาพที่แสดงถึงการก่ออาชญากรรมสงครามของทหารรัสเซีย เพื่อหวังจะโชว์ความโหดร้ายของรัสเซีย และการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของยูเครน

การเลื่อนเวลาจัดประชุมซึ่งปกติจะมีขึ้นในเดือน มกราคม มาเป็นเดือน พฤษภาคม ก็หมายถึงว่า บรรยากาศรอบ ๆ การประชุมในปีนี้ จะรายล้อมไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิและเนินเขาที่เขียวขจี แทนที่จะมีแต่หิมะปกคลุมเหมือนทุกปี

อย่างไรก็ดี ใช่เพียงแต่สภาพอากาศเท่านั้นที่จะแตกต่างไปในปีนี้ นักการเมือง ผู้บริหาร และนักวิชาการของรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดเนื่องจากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน

นอกจากวิกฤตยูเครนแล้ว  ประเด็นอื่น ๆ ที่จะมีการหารือในการประชุมที่ดาวอสในปีนี้คือ การฟื้นตัวหลังจากการระบาดของโควิด การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ อนาคตของงาน  ลัทธิทุนนิยมที่มีผู้มีผลประโยชน์ร่วมมากขึ้น และการควบคุมเทคโนโลยีใหม่ ๆ  ส่วนประเด็นทางธุรกิจอื่น ๆ ที่น่าจะมีการหารือในการประชุมครั้งนี้ จะเน้นไปที่ ภาวะตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก

เออร์ซูลา วอน เดอร์  แลน ประธานคณะกรรมการยุโรป  นายกรัฐมนตรีเยอรมัน โอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนี และ เจนส์  สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นหนึ่งในผู้นำที่จะปราศรัยในการประชุมครั้งนี้

หลังจากฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนเพราะการระบาดของโควิด ในขณะนี้ มีภัยคุกคามมากมายต่อการฟื้นตัวทั่วโลก  ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ต้นปี

เงินเฟ้อที่เกิดจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน กลายเป็นปัญหาในปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงต้นปี  2565 เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการล็อกดาวน์เพื่อคุมโควิดทั่วจีนที่ได้ยับยั้งการฟื้นตัว ได้ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

แม้ว่า การประชุม WEF อาจไม่กลับมาคึกคึกเท่าระดับก่อนเกิดโควิด แต่สนามบินในซูริคคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจะมีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของระดับก่อนหน้านี้ และการกลับมาของจัดการประชุม WEF ในครั้งนี้ ถือเป็นการบรรเทาทุกข์ที่สร้างความยินดีต่อโรงแรมและภัตตาคารของสกีรีสอร์ทในดาวอสมากที่สุด

ยังไม่รู้ว่า การประชุม WEF ในปีนี้ จะมีผลกระทบที่จะช่วยยุติสงครามในยูเครนได้หรือไม่ หรือมีการถกเถียง หารือหรือมีข้อเสนออะไรใหม่ ๆ ที่จะช่วย “ขับเคลื่อนโลก” ให้พ้นจากเรื่องวุ่น ๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาและกลับสู่ “ภาวะปกติ” ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ปีนี้ก็ไม่ต่างจากปีก่อน ๆ ที่มีนักเคลื่อนไหวมาประท้วงเช่นเคย

Back to top button