KBANK กับหน้าผาเอ็นพีแอล

ผลงานอันโดดเด่นของ KBANK มีกำไรสุทธิสำหรับปี 64 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05%


แม้จะเป็นที่ยอมรับโดยปริยายว่า การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจไทย จะยังคงดำเนินต่อไปอาจจะถึงช่วงต้นปีหน้าเสียด้วยซ้ำ แต่ราคาหุ้นของธนาคารชั้นนำอย่าง KBANK ที่น่าจะได้รับประโยชน์สูงมาก ยังต่ำกว่าบุ๊กแวลูมากกว่า  35-40% ยังคงดำเนินต่อไปอย่างน่าพิศวง

เหตุเพราะนักลงทุนโดยเฉพาะขาใหญ่หรือกองทุนต่าง ๆ ยังคงหวาดกลัวว่าเรื่องตัวเลขของ “หน้าผาเอ็นพีแอล” จะกลับคืนมาอีกครั้ง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า มีการตีความเชิงลบว่า การที่นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูภาพรวมสถาบันการเงินในไตรมาสแรกที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง ทั้งเงินกองทุน สภาพคล่องที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ยังมีความสามารถในการขยายสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

เมื่อหากดูด้านการเติบโตด้านสินเชื่อของทั้งระบบสถาบันการเงิน นางสาวสุวรรณี ยังพบว่า เติบโตต่อเนื่อง โดยขยายตัวถึง 6.9% เพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวเพียง 6.5% หากเทียบกับเติบโตกับประเทศที่มีการเติบโตใกล้เคียงกับประเทศไทย พบว่า ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ เติบโตได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และการเติบโตดังกล่าว ถือว่าเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย

นอกจากนั้นหากเทียบประเทศในภูมิภาค ที่การเติบโตเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ที่ ก.พ. ขยายตัว 6.3% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 5.7% มาเลเซีย 4.7% และสิงคโปร์ที่ 2.8% มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่ขยายตัวกว่าประเทศไทย

เพียงตัวเลขอย่างหลังที่ยกมาระบุว่า คุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เอ็นพีแอล ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทรงตัว โดยปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.93% จาก 2.98% ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกัน สินเชื่อ Stage 2 หรือสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ปรับตัวลงเช่นกัน มาอยู่ที่ 6.09% จาก 6.39% เป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ที่มีส่วนช่วยลูกหนี้ให้คุณภาพดีขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะไม่เผชิญกับหน้าผาเอ็นพีแอล จากผลของการผลักดันมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ที่จะมีผลไปถึงปี 66 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ของสินทรัพย์ หรือการปรับเปลี่ยนฐานะของลูกค้าที่ ทำให้ตัวเลข NPL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือ ทำให้คนเชื่อว่ายังไม่ใช่เวลาของการรุกคืบซื้อหุ้นเข้าเก็บในพอร์ตลงทุนที่รวดเร็ว โดยใช้ข้ออ้างอ้างถึงแรงกดดันที่เป็นปัจจัยลบของหุ้นธนาคาร อันได้แก่เรื่องเล่าซ้ำซากอย่าง ผลกระทบจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีต่อทิศทางราคาพลังงานและ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก สถานการณฺ์ที่มีผลต่อความต่อเนื่องและการกระจายการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและการจ้างงานอันส่งผลถึงสถานะทางการเงินของลูกค้าธนาคารโดยรวมและผลการดำเนินงานของธนาคาร

ตัวการที่กลายเป็นแรงกดดันถึงความสามารถในการทำกำไร และความไม่แน่นอน ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจตามครรลองของการ เป็นธนาคารแห่งความสมดุลทั้ง 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหาร ความเสี่ยงและการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม

เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าโดยแนวทางการให้บริการเบ็ดเสร็จตอบโจทย์ทุกด้านของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทุกที่ทุกเวลารวมทั้ง การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในการตอบโจทย์การเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าและการนำเสนอโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้ทุกภาคส่วนในระบบนิเวศของธนาคาร

ในไตรมาสที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2565  KBANK และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขี้นโดดเด่นจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,310 ล้านบาท หรือ 13.23 %เป็นผลจากรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 951 ล้านบาท  ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรับลดลงจำนวน 2,861 ล้านบาท หรือ 24.40 % และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,088 ล้านบาท หรือ 15.08 %

ตัวเลขสำคัญจากการที่ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน  ถือว่ายังเป็นโจทย์ให้ต้องทำการบ้านต่อไปสำหรับผู้บริหารที่ต้องรักษาอัตรากำไรที่เป็นอันดับหนึ่งมาสองปี

กำไรสุทธิของ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ในยุคที่มีกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางขัตติยา อินทรวิชัย ผงาดขึ้นเป็นอับดับหนึ่งของวงการครั้งแรก แซงหน้าเจ้าเก่าได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีกลายเป็นที่หนึ่งในการทำกำไรสูงสุดของวงการ

เรียกได้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทย ถูกโฉลกกับนายธนาคารที่เป็นหญิงในลักษณ์ “นารีขี่ม้าขาว ซึ่งหวังใจว่าธนาคารรวงข้าวจะกลายเป็นธนาคารที่กำไรสูงสุดของวงการในปีต่อไปอีกยาวนาน

กำไรที่โดดเด่นทำให้ KBANK เป็นหุ้นธนาคารที่มีราคาสูงสุดในตลาดยามนี้ แต่ถ้าหากจะคำนวณดูแล้ว ถือว่าราคายังต่ำเกินจริงเพราะยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีหรือบุ๊กแวลูเกือบ 40%

ผลงานอันโดดเด่นของ KBANK มีกำไรสุทธิสำหรับปี 64 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของตัวเลขตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองฯ ในปี 64 จำนวน 40,332 ล้านบาท จนล่าสุดสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 159.08% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 ที่อยู่ที่ระดับ 149.19%

แม้โควิต-19 จะเป็นสถานการณ์ที่ถ่วงรั้งธุรกรรมให้ฟื้นตัวช้าลง แต่ KBANK และบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% ที่มีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21% ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ความโดดเด่นดังกล่าวน่าจะส่งต่อมายังผลประกอบการในปี 2565 ด้วยเช่นกัน และหากครึ่งแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิมากเกินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทละก้อ ราคาหุ้นที่อยู่แถว 145 บาท น่าจะยังถือว่าต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับบุ๊กที่ 204 บาทเข้าไปแล้ว

คนที่ชอบหุ้นใหญ่ และมีกำลังซื้อน่าจะชอบหุ้นราคาต่ำกว่าบุ๊กแต่กำไรกำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งราคาสูงกว่านี้แน่นอน เพียงแต่ไม่อาจจะคาดเดาราคาเป้าหมายได้เท่านั้นเอง

Back to top button