กลุ่ม SAMART ตั้งเป้า เทิร์นอะราวด์

ในครั้งนี้หัวเรือใหญ่ SAMART “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ประกาศชัดว่า จะเริ่มเห็น “กลุ่ม SAMART” เทิร์นอะราวด์บางธุรกิจได้ในปีนี้


เส้นทางนักลงทุน

กลุ่มบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART เป็นบริษัทเก่าแก่อีกหนึ่งบริษัทที่มีอายุยาวนานมากว่า 67 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498

จนถึงปัจจุบันกลุ่มนี้มีกว่า 40 บริษัทในเครือ โดยมี 3 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกอบด้วย 1.บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) และอีก 1 บริษัทที่จ่อจะเข้า SET ในปี 2566 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

กลุ่ม SAMART เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ร้านซ่อมนาฬิกาและอุปกรณ์ไฟฟ้าสารพัดชนิด ที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ด้วยความสามารถในการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ จนเป็นที่กล่าวขาน ชาวบ้านแถบนั้นจึงได้ขนานนามให้ว่า “ร้านสามารถ”

“ร้านสามารถ” ล้ำหน้าจากร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าสารพัดชนิด สู่ “เสาอากาศ” และ “จานรับสัญญาณดาวเทียม” ที่สมบูรณ์แบบโดยฝีมือคนไทย และได้เติบโตขยายกิจการต่อเนื่อง จนกลายเป็น “กลุ่มบริษัทสามารถ” ซึ่งให้บริการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลที่ทันสมัยและครบวงจรในวันนี้

กลุ่ม SAMART ดำเนินธุรกิจ 5 สายหลัก คือสายธุรกิจ ICT Solution and Service สายธุรกิจ Digital สายธุรกิจ Call Center สายธุรกิจ Utilities and Transportations และสายธุรกิจ Technology Related Services ซึ่งระหว่างทางที่ก้าวเดินไปข้างหน้า “กลุ่ม SAMART” ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและต้องเผชิญกับมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่หลายระลอก

สำหรับมรสุมระลอกล่าสุดที่ยังส่งผลต่อ SAMART มาจนถึงปัจจุบัน คือ ผลกระทบจากการแข่งขันรุนแรงในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากทั้งบริษัทผู้จําหน่ายโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้สายธุรกิจ Digital ภายใต้การดูแลของบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการดําเนินธุรกิจ และปรับกระบวนทัพใหม่

นอกจากนี้ SAMART ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซ้ำเติมจนทำให้หลาย ๆ ธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนด้วย

หากมองย้อนหลังกลับไปเกือบ 5 ปี บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ใน SET ของกลุ่มนี้ อยู่ในภาวะขาดทุน โดยในปี 2561 SAMART ขาดทุนสุทธิ 1,075.63 ล้านบาท มีรายได้รวม 12,292.70 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 พลิกกลับมามีกำไร 426.03 ล้านบาท รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 14,275.95 ล้านบาท จากนั้นกลับไปขาดทุนอีกครั้งในปี 2563 ที่ 309.14 ล้านบาท รายได้รวมหดตัวลงต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 9,280.55 ล้านบาท

ในปี 2564 SAMART ยังคงขาดทุนต่อเนื่องที่ 389.08 ล้านบาท รายได้รวมทรุดลงมาที่ 7,141.53 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุน 93.15 ล้านบาท มีรายได้รวม 1,639.16 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทในเครือแห่งอื่น ๆ ก็มีทิศทางไม่แตกต่างกัน โดยบริษัท ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SDC ประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.Digital Network 2.Digital Content ซึ่งเดิมชื่อบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ขาดทุนติดต่อกัน 4 ปี (2561-2564) เริ่มจากขาดทุน 1,596.68 ล้านบาท, 238.39 ล้านบาท, 342.94 ล้านบาท, 332.21 ล้านบาท ตามลำดับ และไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุน 84.44 ล้านบาท

ยกเว้นบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL ที่มีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 351.39 ล้านบาท และ 451.18 ล้านบาท ในปี 2561-2562 ตามลำดับ จากนั้นพลิกขาดทุน 287.50 ล้านบาท ในปีถัดมา แต่พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 61.38 ล้านบาท อีกครั้งในปี 2564 ส่วนไตรมาส 1 ปีนี้ โชว์กำไรได้ที่ 20.45 ล้านบาท

ส่วนบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เดิมชื่อบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เพื่อดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) เน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันได้มีการถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จํากัด (CATS) เพียงบริษัทเดียวตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากรัฐบาลประเทศกัมพูชา ซึ่งมีอายุสัมปทานตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2584 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการศึกษาขยายการให้บริการไปยังสปป.ลาวด้วยนั้น SAV ได้เตรียมแต่งตัวเข้าจดทะเบียนใน SET ในปีหน้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ SAMART ออกมาแสดงความมั่นใจว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 นี้เป็นต้นไป กลุ่ม SAMART จะพลิกฟื้นและเติบโตดีกว่าไตรมาส 1 ที่มีรายได้ 1,639 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 93.15 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ทุกธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้น

เริ่มจาก SAMTEL จะกลับมาเซ็นสัญญางานโครงการทะลุหลัก 1.1 หมื่นล้านบาท อีกครั้งในรอบ 7 ปี ทำให้การรับรู้รายได้ปีนี้จะมากขึ้น ส่วน SDC การดำเนินงานในไตรมาส 2 จะดีขึ้น จากการให้บริการ Digital Trunk Radio System (DTRS) แต่ยอมรับว่าปีนี้ SDC ยังคงขาดทุนอยู่ จากการลงทุนใน DTRS แต่จะพลิกกลับมามีกำไรได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จากการให้บริการ Digital Content & Service เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่าน Content และบริการสายมู สายกีฬา และ Lifestyle ไปสู่ผู้บริโภคผ่าน Application

โดยบริการสายมู ได้จัดตั้งบริษัท LUCKY Heng Heng ใช้รูปแบบการระดมทุนและการบริหารงานแบบ Start up ภายใต้ธุรกิจนี้จะประกอบไปด้วย Horoworld Mobile Application คาดว่าจะเปิดตัวได้ในเดือนสิงหาคมนี้ และอีกหนึ่ง Application ที่ชื่อว่า Thai merit ที่จะช่วยให้สายบุญได้ไหว้พระ บริจาคเงิน แก้บน เสี่ยงเซียมซี ตลอดจนบูชาวัตถุมงคล ได้ทุกวัด ผ่านช่องทางออนไลน์ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการสายมูไว้ที่ 10 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมองโอกาสขยายไปยังธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การรุกสู่ Non-Fungible Token (NFT) โดยจะเข้าไปจับตลาดนักสะสมของโบราณระดับโลก หรือ Sport Moment NFT ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้

SAMART จะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนทางการเงินด้วยการศึกษาจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 10 ล้านบาทต่อปี และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 3 เท่า รวมถึงเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ DTRS ด้วย

ในครั้งนี้หัวเรือใหญ่ SAMART “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ประกาศชัดว่า จะเริ่มเห็น “กลุ่ม SAMART” เทิร์นอะราวด์บางธุรกิจได้ในปีนี้ ขณะที่ในปีหน้าจะเทิร์นอะราวด์ชัดเจนทั้งกลุ่ม

Back to top button