พาราสาวะถี

ตอนนี้คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า รายงานการประชุมครั้งที่ 500 และ 501 ของ กรธ.มีน้ำหนักมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ


ตอนนี้คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า รายงานการประชุมครั้งที่ 500 และ 501 ของ กรธ.มีน้ำหนักมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เพราะบรรดาคอการเมืองต่างมองไปยังคำวินิจฉัยที่จะออกมาแล้วว่า ผลที่จะตามมานั้นเป็นอย่างไร ต้องติดตามการประชุมวันที่ 14 กันยายนนี้ จะตัดสินเลยหรือนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดคงจบภายในเดือนกันยายนนี้

ถ้าเป็นไปตามที่ วิษณุ เครืองาม ระบุ ศาลคงไม่เรียกเอกสารอะไรเพิ่มอีกแล้ว ก็หมายความว่า ทุกอย่างครบถ้วน พร้อมที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น จึงต้องมองไปยังผลของคำวินิจฉัยว่าจะเป็นอย่างไร หากชี้ชัดว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี จะเริ่มนับปี 2560 หรือ 2562 นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะมันหมายความว่าหัวขบวนการสืบทอดอำนาจยังได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป จะนานหรือไม่ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเมื่อได้ไปต่อ จะจัดการการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้อย่างไร

เรื่องสำคัญคงหนีไม่พ้นการปรับ ครม. แม้จะมีเพียงการลาออกของ นิพนธ์ บุญญามณี จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่น่าจะมีการเขย่าอะไรกันมากไปกว่านี้ แม้แต่ กนกวรรณ วิลาวัลย์ จากภูมิใจไทยจะไขก๊อกจากรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการอีกราย ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองนั้นที่จะไปว่ากันเอง แต่โจทย์ใหญ่มันไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อเวลานี้ทุกพรรคต่างเตรียมพร้อมเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป มันจึงต้องมีการขยับเพื่อปรับให้คนที่เป็นมือไม้มีอำนาจในฝ่ายบริหาร

เหตุผลหลัก คือ มันจะเอื้อต่อการดูแลการเลือกตั้ง ยิ่งในพรรคสืบทอดอำนาจต้องไม่ลืมว่าพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็อยากผลักดันให้ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคกลับมาเป็นเสนาบดีอีกหน เพื่อเป้าหมายในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับการไปตกปากรับคำกลุ่มปากน้ำเอาไว้ว่าจะต้องได้เก้าอี้เสนาบดีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หากพี่ใหญ่ขยับย่อมทำให้น้องเล็กที่ไม่อยากจะเปลี่ยนลำบากใจ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของพรรคการเมืองที่จะหนุนตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ต้องคิดหนักกันพอสมควร

แต่การปรับ ครม.ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น เป็นไปตามสมมติฐานที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ แต่ถ้าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอีกทาง คือ อยู่ในเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว ผลที่จะตามมาก็มีอยู่ 2 ทาง คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้รักษาการนายกฯ ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าระหว่างนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่อาจมีใครคาดเดาได้ ไม่ว่าจะเป็นไปตามทิศทางการเมืองปกติหรืออุบัติเหตุทางการเมือง

ส่วนอีกแนวทาง คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่สามารถนั่งรักษาการนายกฯ ได้ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ จะทำให้ปลัดกระทรวงต้องรักษาการรัฐมนตรี และเลือกปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่นายกฯ จนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง และประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมรัฐสภาโดยพลันเพื่อประชุมสรรหานายกฯ ต่อไป ซึ่งการเลือกนายกฯ จากที่ประชุมรัฐสภาก็มีประเด็นให้ต้องคิดกันมากอยู่ดี

กรณีนี้จะต้องมีการเลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้เสนอชื่อไว้เมื่อคราวเลือกตั้งปี 2562 จนถึงเวลานี้มีจากพรรคเพื่อไทย 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ พรรคประชาธิปัตย์ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย เมื่อพิจารณาจากรายชื่อดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่า 4 รายชื่อแรกนั้นไม่ได้มีบทบาทภายในพรรคที่เสนอชื่อแล้ว จึงมีโอกาสยากที่สมาชิกรัฐสภาจะยกมือโหวตให้

ขณะที่รายของอนุทินเหมือนที่ปรากฏเป็นข่าวเวลานี้ แม้ดูดีมีภาษีกว่าใครเพื่อน แต่ราศีความเป็นนายกฯ ยังไม่จับ ประกอบกับนโยบายกัญชาเสรี ที่ถูกตีทำให้ถูกมองว่าน่าจะหลุดโผด้วยเช่นนั้น ทำให้เจ้าตัวถึงกับโล่งใจถ้าไม่ได้เป็นแคนดิเดตจริง ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้ไม่โดนทัวร์ลงอีก แต่เบื้องลึกของใจเป็นอย่างไรนั่นก็อีกเรื่อง หากตัวเลือกจากบัญชีของพรรคไม่ถูกตาต้องใจสมาชิกรัฐสภา แล้วกระบวนการหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถโหวตให้คนที่มีอยู่ในตะกร้าตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้แล้ว สุดท้ายก็ต้องหันไปหาคนนอกตะกร้าบัญชีรายชื่อ มาถึงนาทีนี้คงไม่มีใครมองข้ามรักษาราชการแทนนายกฯ ในปัจจุบัน พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสได้เดินถึงเป้าหมายที่ต้องการแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็คือ เสียงของ ส.ส.ที่จะสนับสนุนก็มีมากพอเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน ด้วยการเดินเกมการเมืองที่เป็นมิตรกับทุกฝ่ายตามที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้า

ประกอบกับเสียงของ ส.ว.จากที่ก่อนหน้าเชื่อกันว่า เป็นสายตรงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช.ที่เซ็นแต่งตั้งมากับมือ แต่เมื่อสแกนกันไปอย่างละเอียดแล้วกลับพบว่าส.ว.ลากตั้งส่วนใหญ่ เป็นสายตรง หรือที่ไม่ใช่แต่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. อันจะเห็นได้จากการลงมติในหลายเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาที่ผ่านมาว่า ไม่เป็นไปตามที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องการ บางเรื่องไปหนุนแนวทางของฝ่ายตรงข้ามอีกต่างหาก นั่นเป็นเพราะการจัดให้ของเด็กในคาถาที่พี่ใหญ่บัญชาการอยู่

ย้อนกลับไปที่ปมการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 และ 501 อีกครั้ง ที่มีข่าวว่าการประชุมไม่มีการบันทึกชวเลขทุกคำพูด จึงอาจคลาดเคลื่อนได้นั้น การบันทึกรายงานการประชุมทำได้หลายวิธี แต่โดยสรุปต้องทำเป็นรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร จะบันทึกชวเลขหรือไม่จึงไม่มีความสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่เอกสารรายงานการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ได้รับการรับรองโดยการประชุมครั้งที่ 501 ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งเป็นประธานด้วย

เมื่อมีชัยรับรองแล้วว่าถูกต้องโดยไม่มีการแก้ไข คนที่ไม่เกี่ยวข้องจะมาบอกเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ยิ่งที่บอกว่าการประชุม กรธ.เรื่องเจตนารมณ์ได้ทำขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็แย้งว่า เป็นปกติอยู่แล้วที่การจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะต้องกระทำภายหลังจากรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะไปทำก่อนหน้าได้อย่างไร ส่วนการประชุมเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นการประชุมต่อเนื่องไม่ขาดตอน จึงยกข้อเหตุผลใดมาลบล้างเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นไม่ได้

Back to top button