สิงคโปร์กับนโยบาย EV.!?

รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศนโยบายชัดไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวและรถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซล มาจดทะเบียนใหม่นับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป


รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศนโยบายชัดไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวและรถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซล มาจดทะเบียนใหม่นับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป นั่นหมายถึงอีก 4 ปีข้างหน้า คนสิงคโปร์ไม่สามารถซื้อรถยนต์ดีเซล เพื่อใช้ในประเทศได้อีกต่อไป นี่ถือเป็นการบังคับใช้มาตรการเร็วกว่าการประกาศไว้ก่อนหน้านี้ถึง 5 ปี

ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น จากปัจจุบันสิงคโปร์มีรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้เครื่องดีเซลอยู่เพียง 2.9% ส่วนรถยนต์แท็กซี่มีสัดส่วนสูงถึง 41.5% โดยรถยนต์เพื่อการขนส่งและรถบัสโดยสารได้รับยกเว้นจากมาตรการดังกล่าว

โดยการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า สิงคโปร์ มีแผนติดตั้งสถานีชาร์จ EV ให้ได้ครบ 60,000 จุด ภายในปี 2030 โดยแบ่งเป็นที่จอดรถพื้นที่สาธารณะ 40,000 จุดและที่จอดรถส่วนตัว 20,000 จุด พร้อมจัดตั้งหน่วยงานรัฐ ที่ดำเนินการนโยบายส่วนนี้โดยเฉพาะ พร้อมดึงภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

กรมการขนส่งทางบกสิงคโปร์ ระบุว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการบังคับให้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ทั้งหมดที่ออกใหม่ช่วงปี 2030 ต้องเป็นรุ่นที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และภายในปี 2040 ยานพาหนะทุกชนิดต้องใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด

ที่ผ่านมาหลายประเทศ ต่างหันมาออกนโยบายทยอยลดการขับขี่รถยนต์น้ำมัน เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน แคนาดา ที่วางแผนยกเลิกการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ภายในปี 2040 ทำให้ตัวเลขรถยนต์ที่ใช้น้ำมันชะลอตัว และรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มครองตลาดมากขึ้น โดยมีการประเมินกันว่า ตัวเลขจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโต 17-26% ต่อปี และปี 2040 จะมีรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งโลกประมาณ 150-550 ล้านคัน คิดสัดส่วนเป็น 31-55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย มีรถยนต์ไฟฟ้าเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2% ของจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดทั่วประเทศ มีการตั้งเป้าหมายปี 2036 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 1.2 ล้านคัน มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 สถานีทั่วประเทศ

บริษัทด้านพลังงานของไทย มีการวางกลยุทธ์ขยายสู่ธุรกิจใหม่ เช่น การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ เริ่มจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี กักเก็บพลังงาน โดยมีบริษัทในเครือคือบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC มีแผนขอซื้อ License การผลิตแบตเตอรี่ และตั้งโรงงานผลิตพื้นที่ EEC

ขณะที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีการเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า (PTT EV Station) และต่อยอดพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger)

ส่วนบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ และซัสโก้ มีการติดตั้งจุดบริการชาร์จไฟฟ้าบางแห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เพื่อเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

แต่ปัญหาการขับเคลื่อนสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า” อาจไม่ได้อยู่ที่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแต่อยู่ที่ความชัดเจนจากนโยบายรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ที่สำคัญความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่าง “รถยนต์ไฟฟ้า” กับการส่งเสริมการใช้ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” และ “ไบโอดีเซล” เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตร

ที่สำคัญความ “ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแท้จริง” ของคนไทย..มีมากน้อยเพียงใด หากยังไร้บทสรุป “รถยนต์ไฟฟ้า” คงไปต่อได้ยาก..!!??

Back to top button