พอกันที!รถไฟสารพัดสี

ในรอบ 3 ทศวรรษมานี้ ผมว่า แผนการลงทุนระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้ายกระดับและใต้ดิน ประสบกับความล้มเหลวมากกว่าผลสำเร็จ


ในรอบ 3 ทศวรรษมานี้ ผมว่า แผนการลงทุนระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้ายกระดับและใต้ดิน ประสบกับความล้มเหลวมากกว่าผลสำเร็จ

ทั้งลงทุนสูง แต่ประสิทธิภาพต่ำ และก่อปัญหาทัศนียภาพอันเลวร้าย โดยเฉพาะรถไฟฟ้ายกระดับ

อาทิเช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน มูลค่าเงินลงทุนในราว 1.2 แสนล้านบาท เดิมทำแผนศึกษาความเป็นไปได้หรือฟีซสิบิลิตี้ว่าจะขนผู้โดยสาร 50,000 คน/ทิศทาง/ชั่วโมง เดินรถวันหนึ่ง 12 ชั่วโมง ก็จะสามารถขนคนได้ถึงวันละ 6 แสนคน

แต่เอาเข้าจริง กว่าจะเป็นวันนี้ในอัตราขนคนโดยเฉลี่ยได้ 300,000 คน/วัน ก็เลือดตาแทบกระเด็น มันเป็นการวางแผนที่เว่อร์เอามาก ๆ “ลงทุนสูง แต่ประสิทธิภาพต่ำ”

ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวันของประชาชนได้มากมายนัก และก็ไม่ได้มีส่วนบรรเทาความคับคั่งการจราจรทางถนนอย่างมีนัยอะไรเลย

สายสีเขียวบีทีเอส ค่อยยังชั่วหน่อย โดยเฉพาะการต่อขยายเส้นทางไปยังปริมณฑลทั้งสมุทรปราการและลำลูกกา เคยขนผู้โดยสารวันละ 8-9 แสนคนมาแล้ว

แต่ข้อเสียสาหัสสากรรจ์ก็คือ การทำลายทัศนียภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง “ฮวงจุ้ย” ที่ร้านรวงขนาดเล็ก ทำมาหากินไม่ได้เลย

ต่อไปนี้ ไม่ควรจะมีรถไฟฟ้าสีอะไร ที่เป็นการลงทุนแบบ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เพิ่มเติมอีกแล้ว ควรหันมาใช้ “รถรางไฟฟ้า” พ่วง 3-4 ตู้ แบบยุโรป ก็จะเป็นการลงทุนต่ำที่คุ้มค่า สามารถประหยัดงบประมาณได้มหาศาล และไม่เป็นการทำลายทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมแต่ประการใดเลย

คนบ้านเราอาจไม่คุ้นชิน การใช้รางและถนนร่วมเหมือนเมืองนอก แต่ถนนบ้านเราก็ค่อนข้างใหญ่โตและกว้างขวางกว่า สามารถใช้เกาะกลางเป็นทางรถรางไปกลับได้สบาย

แถมถนนบางแห่งที่มี 6-8 เลน ยังสามารถปลูกต้นไม้หรืออาจจะเผื่อทางวิ่งจ๊อกกิ้งได้สบาย ๆ ด้วยซ้ำ

ถนนที่มีระยะทางระหว่าง 10-20 กม.อย่างเช่น แจ้งวัฒนะ, รามอินทรา, ลาดพร้าว, รามคำแหงไปยันมีนบุรี, ศรีนครินทร์ และเพชรบุรีตัดใหม่ ฯลฯ สามารถจะทำเป็นเส้นทางรถรางได้หมดล่ะครับ

รถรางในยุโรปสามารถแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างดีเป็นอันมาก ถึงแม้จะขนคนได้ไม่มากเท่าระบบขนส่งมวลชน แต่เมื่อเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถเป็น 2-3-4 นาทีต่อขบวน ก็สามารถจะทดแทนกันได้

ประการสำคัญที่สุดก็คือประหยัดงบประมาณลงทุนได้เป็นอันมาก

รถไฟฟ้าเส้นทางหนึ่งหรือสีหนึ่งใช้งบสร้างกันตั้งแต่ 7 หมื่น-1 แสนกว่าล้านบาทเพราะต้องใช้โครงสร้างใหญ่ และขบวนรถและการเดินรถที่แพง ผิดกับรถรางที่ใช้โครงสร้างระดับพื้นดิน ขบวนรถและระบบเดินรถไม่ได้แพงมากมายอะไร

แต่ใช้งานคุ้มค่ากว่ากันมากไม่เหมือนการลงทุนรถไฟฟ้าสารพัดสี ซึ่งลงทุนมาก เหมือน “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” แต่ได้ผลไม่คุ้มค่า อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่วาดโครงการจะขนคนได้เป็นแสน/วัน แต่ตอนนี้ วันละ 3 หมื่นคนยังหืดจับอยู่เลย

ยิ่งมีโครงการรถไฟ สารพัดสี  เยอะเท่าไหร่กรุงเทพฯ ก็ยิ่งอัปลักษณ์น่าเกลียดมากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับมี “กำแพงเมืองจีน” เป็นหย่อม ๆ เมื่อมองจากข้างบนเลยทีเดียว

บางโครงการก็มีการแฉโพยกันเองว่าออกทีโออาร์ “ฮั้ว” ให้บางเจ้า และปล่อยให้มีการประมูลราคาสูงกว่าราคาปกติถึง 7 หมื่นล้านบาทเพื่อจะมี “เงินทอน” ไปให้นักการเมือง

มันก็อาจจะจริงเพราะธรรมเนียมปฏิบัติบ้านเรา หน่วยงานราชการมักจะหาเรื่องทำโครงการเพื่อจะมีช่องทำมาหากินกันได้ ยิ่งโปรเจกต์ราคาสูงยิ่งดี ยิ่งจะได้มีเงินทอนสูงมากขึ้น

การที่รถรางยุคใหม่ไม่สามารถแจ้งเกิด มีแค่แจ้งเกิดรถไฟฟ้าสารพัดสีได้ก็เพราะเหตุจูงใจเรื่อง “เงินทอน” เช่นนี้ด้วยหรือเปล่า ก็ไม่รู้สินะ

กทม. ควรหยุดโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสีได้แล้ว หัวเมืองเอกทั้งหลาย ก็อย่าได้นำบทเรียนที่ผิดพลาดของกทม.ไปใช้เลย

รื้อฟื้นระบบรถรางสมัยใหม่ขึ้นมาใช้งานแทนรถไฟฟ้าสารพัดสีกันเถอะ!

Back to top button