กรีนชู = ชอร์ตหุ้น

กลายเป็นรอยด่างดำของตลาดหุ้นไทยแบบน่าเจ็บใจ เพราะเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดันเกิดขึ้นให้เห็นโต้งๆ ส่งผลให้โฟกัสต่างๆ พุ่งตรงไปที่เจ้าของ กับ FA


กลายเป็นรอยด่างดำของตลาดหุ้นไทยแบบน่าเจ็บใจ เพราะเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดันเกิดขึ้นให้เห็นโต้ง ๆ ส่งผลให้โฟกัสต่าง ๆ พุ่งตรงไปที่ “เจ้าของ” กับ “เอฟเอ” (ที่ปรึกษาทางการเงิน) หลังย่ามใจทำเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ เพราะเหมือนเป็นการฉกเงินในกระเป๋าแมงเม่าไปดื้อ ๆ โดยเจ้าของเงินไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนว่า โดนวางยาแบบแนบเนียน เดี๊ยนจึงต้องออกมาตีแผ่แก่นแท้ของกรีนชูมันคืออะไร?..มันทำอย่างไร? เจ้าค่ะ

ว่ากันว่าการทำกรีนชูในอดีตที่ผ่านมา เขาทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเมื่อเข้าเทรดวันแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนในตลาดหุ้นยอมรับแบบเต็มใจ เพราะสมัยนั้นที่ปรึกษาทางการเงินทำทุกอย่างโปร่งใส ผนวกกับกลุ่มผู้บริหารก็เป็นคนประเภทรู้จักผิดชอบชั่วดี จึงไม่มีใครว่ากล่าวและให้ร้ายในภายหลัง ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่ทำให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นจ้า!

เนื่องจากในยุคนั้น เอฟเอจะอัดเงินเข้ามาอย่างเต็มที่ เมื่อเห็นตอนเปิดตลาดราคาหุ้นทำท่าจะหลุดจอง จึงเหมือนเป็นการสร้างเสถียรภาพให้ราคาหุ้นไปในตัว แถมยังเป็นการใช้เงินแบบไม่มีกั๊กอีกต่างหาก เพราะเล็งเห็นความสำคัญของผู้ถือหุ้นทุกรายที่จองซื้อไอพีโอ และไม่มีใครตำหนิติเตียนเมื่อราคาหุ้นยังไหลลงอีก หลังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วน่ะซี

ปัญหาก็คือ BTG หรือ บมจ.เบทาโกร ไม่ได้แสดงให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นความจริงใจ! และยังมีเรื่องให้เคลือบแคลงสงสัยตลอดเวลา “โมนิก้า” จึงไม่แปลกใจที่ผู้คนมากมายหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาเม้าท์ตลอดเวลา โดยเฉพาะประเด็นของ  “กรีนชู = ชอร์ตหุ้น” มันเป็นเรื่องที่ฝั่งของ “บล.ภัทร” ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กับเจ้าของบริษัทอย่างอาเฮีย “วสิษฐ” ต้องออกมาเคลียร์ให้ชัดกว่าเดิมนะจะบอกให้

เนื่องจากสิ่งที่ “โมนิก้า” ได้เรียนรู้เป็นเวลาหลายสิบปีต่างพูดตรงกันว่า ถ้าสถานการณ์ราคาหุ้นตอนเปิดเทรดวันแรกไม่สู้ดี ก็มีความจำเป็นต้องรีบใช้กรีนชูนับตั้งแต่วินาทีแรก แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นดันกลายเป็นว่า บล.ภัทร ไม่ใช้กรีนชูที่มีอยู่ในมือเสียอย่างนั้น และปล่อยให้ราคาหุ้นไหลลงไปเรื่อย ๆ จนผู้คนมากมายพูดถึงความ เจ้าเล่ห์..อุ๊ย..จริงใจ เคยมีให้แมงเม่ากันบ้างไหมเอ่ย?

ยิ่งเจาะลึกลงไปถึงราคาเปิดเทรดวันแรก 2 พ.ย. อยู่ที่ 39.75 บาท เทียบกับราคาเคาะไอพีโอที่ระดับ 40 บาท ยิ่งทำให้เห็นความผิดปกติบางอย่างของกรีนชูได้เกิดขึ้นแล้ว และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือราคาหุ้น BTG ก็ไหลลงแบบไม่มีดิสก์เบรก จนสุดท้ายลงมาปิดต่ำสุดของวันระดับ 36.25 บาท ลบไป 3.75 บาท หรือลงไป 9.40% และในระหว่างวันไม่ใช้กรีนชูเข้ามาพยุงหุ้นเลยแบบนี้..มันหมายความว่าอย่างไร?

ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามที่ว่า แล้วจะมีกรีนชู 65.20 ล้านหุ้นไปทำไม? และดูเหมือนกระแสโจมตีจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ บล.ภัทร เกิดอาการก้นร้อน และหันมาใช้กรีนชูในวันที่ 3 พ.ย. แบบเต็มตัว จนราคาหุ้นเด้งกลับขึ้นมาปิดที่ 37.50 บาท บวกไป 1.25 บาท หรือขึ้นไป 3.45% แต่มันก็สายเกินไปสำหรับโลกของการลงทุน เพราะวิกฤติศรัทธาได้เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่มีใครอยากเล่นหุ้นตัวนี้อีกต่อไป และทำให้หุ้นทรุดโทรมจนถึงทุกวันนี้เจ้าค่ะ

คำถามต่อมาก็คือ ใครได้ประโยชน์จากการทำกรีนชู? ซึ่งคนในวงการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บล.ภัทร เพราะเป็นคนที่ยืมหุ้นจากเจ้าของมาขายในราคา  40 บาท แต่ตอนซื้อคืนเพื่อส่งมอบให้เจ้าของมันมีส่วนต่างที่ต่ำกว่าราว 3.75 บาทต่อหุ้น เมื่อนำมาคูณกับจำนวนหุ้นกรีนชูทั้งหมด 65.20 ล้านหุ้น เที่ยวนี้ก็ฟาดกำไรเข้ากระเป๋าราว ๆ 244 ล้านบาท กันเลยทีเดียวนะนายจ๋า!

เรื่องทำท่าจะจบลงแบบนั้น! แต่เจ้ากรรมนายเวรอย่าง BTG ดันออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า ส่วนต่างกำไรทั้งหมดจะบันทึกเข้ามาเป็นรายได้ของบริษัท “โมนิก้า” เลยเกิดอาการงงเป็นไก่ตาแตกเข้าไปใหญ่ เพราะมันหมายความว่า “บล.ภัทร” กับอาเฮีย “วสิษฐ” มีการสุมหัวกันทำชอร์ตหุ้นใช่ไหม? ซึ่งเป็นวิธีที่เหมือนกับการชอร์ตหุ้นในตลาดทั่วไป แต่พวกพี่ ๆ เล่นทำในหุ้นไอพีโอแบบนี้..โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ไปนะพ่อคุณ

ที่สำคัญอย่าลืมว่า ยืมหุ้นไปขาย..ก็ต้องเอาหุ้นมาคืน และคนที่เป็นธุระจัดการ ก็มีหน้าที่แค่เอาหุ้นมาคืนให้ครบตามจำนวนเท่านั้น! ส่วนจะ “ซื้อถูก” หรือ “ซื้อแพง” คนที่เป็นธุระจัดหาต้องรับไว้เองทั้งหมดไม่ใช่เหรอ! ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้มาตลอด หรือข้อมูลของเดี๊ยนมันไม่ถูกต้องตรงไหน?..ก็ให้เอาปากกามาวงนะคะ

Back to top button