โอกาส (ที่หลุดลอย) ของ THAI

การคลายล็อกของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ก็เหมือนทำนบแตก มีนักท่องเที่ยวชาวจีนทะลักเข้ามาสู่เป้าหมายการเดินทางอันดับ 1 คือประเทศไทยอย่างล้นหลาม


การคลายล็อกของประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ก็เหมือนทำนบแตก มีนักท่องเที่ยวชาวจีนทะลักเข้ามาสู่เป้าหมายการเดินทางอันดับ 1 คือประเทศไทยอย่างล้นหลาม

ข้อมูลจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยระบุว่า ช่วงตรุษจีนระหว่าง 19-25 ม.ค.ปีนี้ มีเที่ยวบินจากจีนเข้ามาไทยถึง 240 เที่ยวบิน เฉลี่ยแล้ววันละ 34 เที่ยวบิน

ตามประเมินของบวท.จะมีเที่ยวบินจากจีนตลอดเดือน ม..จำนวน 1,160 เที่ยว และประเมินทั้งปีจะมีเที่ยวบินจีนเข้ามารวมทั้งสิ้น 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่าจากปีก่อน

ทว่าอนิจจา! ขณะที่เครื่องบินจีนไหลมาเทมาเข้าประเทศไทย แต่เครื่องบินไทยไปจีนยังมีน้อยมาก  และในอนาคตอันใกล้นี้ ที่จีนจะเปิดประเทศเต็มรูป การบินไทยของเรา ก็ยากจะไปทำการบินปกติในเส้นทางที่เคยเป็นเส้นเงินเส้นทองกับเขาได้

เหตุผลสั้น ๆ ง่ายนิดเดียว คือ ไม่มีเครื่องจะไปบิน เพราะขณะนี้เหลือเครื่องบินประจำการเพียงแค่ 44 ลำเท่านั้น จากเคยมีประจำการก่อนโควิดอยู่กว่า 90 ลำ

เครื่องบิน 44 ลำที่มีใช้งาน ประกอบด้วยแอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ, แอร์บัส A350-900 จำนวน 12 ลำ, โบอิ้ง 777-200 อีอาร์ 6 ลำ, โบอิ้ง 777-300 อีอาร์ 17ลำ, โบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ

เครื่องโบอิ้งจัมโบ้ 747-400 จำนวน 10 ลำที่น่าจะมาแก้ไขสถานการณ์เครื่องบินขาดแคลนได้ ก็ได้ทำการขายไปแล้วเป็นมูลค่าราว 2,000 กว่าล้านบาท

ส่วนเครื่องแอร์บัส A340-500 “มรดกบาป” ขายปลดระวาง 5 ลำได้เงินมาแค่ 350 ล้านบาทเอง และขายให้กองทัพอากาศ 1 ลำก่อนหน้านี้ คงเหลืออีก 4 ลำยังรอการขายต่อไป

แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ขึ้นบัญชีรอขาย น่าเสียดายที่จอดแช่คาสุวรรณภูมิไว้เฉย ๆ

ตารางการบินในเส้นทางทำเงินเวลานี้อันได้แก่ลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต โตเกียว ฮอกไกโด และโซล เป็นต้น มีเครื่องการบินไทยบินแค่วันละไฟลต์/ 1 เส้นทาง เพราะจำนวนเครื่องบินใช้งานไม่พอเพียง

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การจองตั๋วการบินไทยทุกวันนี้ “โอเวอร์บุ๊ก” อันยากลำบากมากในทุกเส้นทาง ซึ่งทั้งหาที่นั่งไม่ได้และราคาก็แพงขึ้นมาก

ที่นั่งชั้นธุรกิจไปญี่ปุ่นเมื่อก่อน 5-6 หมื่นบาท เดี๋ยวนี้ 80,000-100,000 บาท พวกบัตรทองแลกไมล์หมดสิทธิ์ ต้องเข้าคิวรอแบบไม่มีอนาคต

ผมถึงว่ามันน่าเสียดายนัก ที่ยามนี้ ควรจะมีเครื่องบินประทังความขาดแคลนได้ เช่นโบอิ้ง 747-400 ที่ยังพอใช้การได้จำนวน 10 ลำ แต่ละลำมีความจุเกือบ 400 ที่นั่ง รวมแล้วก็เกือบ 4 พันที่นั่งบิน แต่ก็นั่นแหละ ฝ่ายบริหารการบินไทยแจ้งว่าได้ขายไปแล้ว

ขายได้สะเด็ดน้ำหรือเปล่า และจะส่งมอบกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ หากยังไม่มีความแน่นอน ก็น่าจะเรียกกลับมาบินต่อ “ขายเครื่องบินขณะยังบินได้บนฟ้า ยังไงก็น่าจะได้ราคาดีกว่าเครื่องบินจอดแช่คาสนามบิน” หรอกน่า

ส่วนเครื่องบินแอร์บัส A380 ความจุ 500 ที่นั่งจำนวน 6 ลำที่จอดแช่รอขึ้นทะเบียนขายนี่ผมว่าน่าเสียดาย “โคตร ๆ” เลย เครื่องบิน 6 ลำก็ 3,000 ที่นั่ง สามารถแก้ขัดแก้เบาได้ไม่น้อยเลยนะ ท่านผู้บริหารแผนฟื้นฟูและท่านผู้บริหารการบินไทย

เครื่องบินเก่า ระหว่างจอดแช่รอการขาย กับบินขึ้นฟ้ารอการขาย อย่างไหนจะขายได้ราคาดีกว่ากัน

เครื่องบินจอดแช่โดยไม่มีรายได้ ไหนจะต้องตั้งด้อยค่าทางบัญชีไปทุกปี และไหนจะเสื่อมสภาพไปทุกที คนจะซื้อก็ยิ่งต้องกดราคาเพื่อกันเงินก้อนหนึ่งไปฟื้นฟูบูรณะอยู่ดี

คำชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการของผู้บริหารการบินไทย คือ เครื่องแอร์บัส A380 เป็นเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ทำให้มีต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงมาก นอกจากนี้จำนวนที่นั่ง 500 ที่นั่งก็ไม่เคยเต็ม ทำให้ขาดทุนมาตลอด

เอ๊ะ! เรื่องที่นั่งไม่เต็มมันเป็นเรื่องการบริหาร เกี่ยวอะไรกันเนี่ยกับการไม่เอา A380 ขึ้นบิน และอย่างที่ว่า ขายเครื่องบินที่ยังบินได้บนฟ้ากับจอดแช่รอขาย อย่างไหนจะขายได้ราคาดีกว่ากัน

ยอมเอา A380 ขึ้นบิน อาจจะขาดทุนบ้าง แต่ก็คุ้มค่าอย่างมากในการแก้ปัญหาเครื่องบินขาดแคลนขณะนี้ และเหนืออื่นใดนี่คือโอกาสที่ต้องคว้าเอาไว้ในสถานการณ์เปิดน่านฟ้าโลกอีกครั้งหลังโควิด

มัวแต่อ้างเครื่องบินขาดแคลนยันเต แล้วปล่อยโอกาสทองหลุดลอย แล้วชาตินี้ชาติไหนจะได้ฟื้นฟูการบินไทยกันเล่า

Back to top button