ซื้อไฟสะอาดรอบ 2 ใครได้ประโยชน์

การรับซื้อไฟฟ้าสะอาดเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าทุกรายจะได้รับประโยชน์ แต่โอกาสของใครจะมากกว่ากัน ต้องมาวัดกันที่ศักยภาพ


เส้นทางนักลงทุน

เป็นข่าวดีที่มาเร็วกว่าคาด สำหรับผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันอยู่ระหว่างรับซื้อ 5,203 MW ตามแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งกพช.ให้เพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทนจาก 9,996 MW เป็น 12,700 MW

รอบนี้จะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 MW, พลังงานลม 1,000 MW, ก๊าซชีวภาพ 6.5 MW, และขยะอุตสาหกรรม 30 MW โดยการเปิดเพิ่มครั้งนี้จะใช้ระเบียบเดียวกันของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะทำให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น จากการรอการประกาศผลคัดเลือก 5,203 MW ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน 2566 นี้

ความต้องการใช้พลังงานสะอาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเทรนด์ทางเลือกและเป็นธีมการลงทุนในแนวทางรักษ์โลก เพราะภาวะโลกร้อน (Climate Change) ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) ส่งผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก

พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) จึงมีความสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการใช้พลังงานของมนุษย์จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมอย่างน้ำมัน มาเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จะขับเคลื่อนโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน

การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มของกพช.น่าจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าทุกรายได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการคัดเลือกของกกพ.

อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่น่าจะได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากการปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มครั้งนี้ เด่น ๆ คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

GULF หนึ่งในตัวเต็งลำดับต้น ๆ จากศักยภาพและความแข็งแกร่ง จึงมีโอกาสอย่างมาก บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าน่าจะได้ 2,200-2,850 MW เป็นหุ้นบิ๊กแคปที่น่าสนใจ เนื่องจากต้นทุนทยอยลดลงตามราคาก๊าซ และฐานลูกค้าอุตสาหกรรมดีขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัว

ถึงจะยังไม่สรุปดีลนี้ แต่โบรกเกอร์มองดี ให้ประมาณการกำไรสุทธิในปี 2566-2568 ที่ 17,582 ล้านบาท, 22,190 ล้านบาท และ 24,679 ล้านบาท ตามลำดับ จากปี 2565 ทำสถิติกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11,418 ล้านบาท

ส่วนราคาเป้าหมายของหุ้น ณ ปี 2566 มีการประเมินไว้ในกรอบต่ำสุด 50 บาท สูงสุด 68 บาท มีค่าเฉลี่ย 59.90 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นทะลุเกินกรอบล่างสุดไปแล้ว

GULF มีสัดส่วนรายได้แบ่งตามประเภทธุรกิจคือ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 79.6% ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 8.4% ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 4.2% รายได้ค่าบริหารจัดการ 0.7% รายได้อื่น ๆ 0.9% และส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากบริษัทร่วม 6.2%

ส่วน GUNKUL มีลุ้นเช่นกัน รวมทั้งยังลุ้นโอกาสฟื้นตัวจากโรงไฟฟ้าลมที่แรงลมจะดีขึ้น และธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (EPC) จะกลับมาดี และมีงาน EPC จากการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเพิ่มเติม

ในปี 2566-2568 มีการมองประมาณการกำไรของ GUNKUL ไว้ที่ 1,561 ล้านบาท, 1,893 ล้านบาท และ 2,078 ล้านบาท ตามลำดับ ราคาหุ้นอ้างอิงมูลค่าพื้นฐานปี 2566 ที่ 5.00 บาท ที่จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า EPC และ Trading เป็นหลัก ตามด้วยธุรกิจกัญชง-กัญชา บนสมมติฐานกำไรที่ 330 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม GUNKUL มีกรอบราคาที่โบรกเกอร์ให้ไว้ต่ำสุดที่ 4.60 บาท ปัจจุบันราคาในกระดานไม่ห่างไกลจากกรอบล่างเท่าไร ส่วนกรอบราคาสูงสุดอยู่ที่ 6.80 บาท มีราคาเฉลี่ย 5.35 บาท จึงถือว่า GUNKUL ยังมีอัพไซด์

ด้าน GPSC เป็นอีกหนึ่งตัวเต็ง และมีโอกาสที่ปี 2566 นี้จะพลิกมีกำไร เพราะมาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ส่วนต้นทุนพลังงานเริ่มทยอยปรับลดลง แรงกดดันจากต้นทุนถ่านหิน การปิดซ่อมของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม และราคาก๊าซผ่านจุดแย่สุดไปแล้วในไตรมาส 4 ปี 2565

ปี 2565 GPSC มีรายได้รวม 123,685 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 88% มาที่ 891 ล้านบาท จากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกพุ่งอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงที่มีข่าวเพิ่มการซื้อไฟฟ้าสะอาดดังกล่าว หุ้นตัวนี้วิ่งตอบรับข่าวดีไปแล้วราว ๆ 2% มาอยู่ที่ 66.50 บาท (ณ 10 มีนาคม 2566) ขณะที่กรอบราคาหุ้นที่โบรกเกอร์ให้ไว้ต่ำสุดอยู่ที่ 65 บาท ถือว่าวิ่งแซงหน้าไปแล้ว โดยมีกรอบสูงสุดที่ 88 บาท กรอบราคาเฉลี่ย 77.96 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองภาพรวมของบจ.ในกลุ่มโรงไฟฟ้าในปี 2566 กำไรสุทธิน่าจะฟื้นตัวได้ดีจากฐานต่ำในปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดเห็นดีลการซื้อกิจการ (M&A) หรือซื้อโครงการอย่างต่อเนื่องจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และโอกาสของพลังงานทดแทนที่มีอยู่ทั่วโลก

แน่นอนว่าการรับซื้อไฟฟ้าสะอาดเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าทุกรายจะได้รับประโยชน์ แต่โอกาสของใครจะมากกว่ากัน ก็ต้องมาวัดกันที่ศักยภาพ

Back to top button