BAM เป้ายอดเก็บหนี้โตน้อย 5%

BAM โครงสร้างรายได้ของ BAM ณ สิ้นปี 2565 1.ธุรกิจบริหารจัดการ NPL 67% 2.ธุรกิจบริหารจัดการ NPA 32% 3.รายได้อื่น 2%


คุณค่าบริษัท

บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM โครงสร้างรายได้ของ BAM ณ สิ้นปี 2565 1.ธุรกิจบริหารจัดการ NPL 67% 2.ธุรกิจบริหารจัดการ NPA 32% 3.รายได้อื่น 2%

BAM รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 866.46 ล้านบาท ลดลง 12.18% จากไตรมาส 4/2564 แต่เพิ่มขึ้น 21.04% จากไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 715.83 ล้านบาท จากการจัดเก็บเงินสด (Cash collection) ไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้น 19.5% จากไตรมาส 3/2565 และ 7.6% จากไตรมาส 4/2564 มาที่ 5.3 พันล้านบาท ผลบวกจากช่วงไฮซีซันของการขายทรัพย์สินของ BAM ส่วนกำไรสุทธิงวดปี 2565 อยู่ที่ 2,724.76 ล้านบาท เติบโต 4.79% จากงวดปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 2,600.22 ล้านบาท BAM มียอดจัดเก็บเงินสดปี 2565 รวม 16,951 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 3.07% ส่วนกำไรสุทธิงวดปี 2565 ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวของรายได้จากส่วนงาน NPLs และการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในปี 2565 รายได้จากการดำเนินงานส่วน NPLs มีจำนวน 9,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2564 จากการขยายฐานลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและรายกลาง และกิจกรรมการขายทอดตลาดผ่านกรมบังคับคดีที่กลับคืนสู่สภาวะปกติ และรายได้จากการดำเนินงานส่วน NPAs มีจำนวนรวม 2,895 ล้านบาท ลดลง 23.2% จากปีก่อน เป็นผลจากกลยุทธ์ราคาพิเศษเร่งการขาย NPAs ในปี 2564

ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปี 2565 อยู่ที่ 2,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากการออกและเสนอขายหุ้นกู้และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามสภาวะตลาด ส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานปี 2565 อยู่ที่ 2,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากปี 2564 จากกิจกรรมทางธุรกิจของ NPLs และ NPAs ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.2% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ 39.7%

ผู้บริหาร BAM มองภาพรวมอุตสาหกรรม AMC เป็นบวกมากขึ้นจากปีก่อน หลังสถาบันการเงินเริ่มกลับมานำหนี้ NPL ออกประมูลขายมากขึ้น ซึ่งคาดจะช่วยให้ปีนี้ BAM สามารถประมูลซื้อหนี้ก้อนใหม่ได้ตามเป้าที่ 9,000 ล้านบาท จากที่ทำได้เพียง 8,253 ล้านบาท ในปี 2565 รวมถึงคาดว่าทำให้ราคาปิดประมูลเริ่มทยอยปรับลงตามปริมาณอุปทานหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

BAM ตั้งเป้ายอดจัดเก็บเงินสดรวมปี 2566 ที่ 17,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2565 แบ่งเป็น ยอดจัดเก็บเงินสดจาก NPL 10,500 ล้านบาท และยอดจัดเก็บเงินสดจาก NPA 7,300 ล้านบาท

กลยุทธ์หลักของ BAM ในปีนี้ ได้แก่ 1.เพิ่มปริมาณลูกหนี้ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างขึ้น 3,000 ราย จาก ณ สิ้นปี 2565 มีอยู่ 8,376 ราย เพื่อสร้าง Recurring Income ให้กับบริษัท โดยจะเน้นเพิ่มช่องทางในการขอปรับโครงสร้างหนี้ให้ง่ายขึ้น และเพิ่มแรงจูงใจด้วยการลดดอกเบี้ยและลดมูลหนี้ให้กับลูกหนี้มากขึ้น ทั้งนี้ BAM ตั้งเป้าหมาย 5 ปี โดยมีแผนเติบโตกระแสเงินสดจากการเก็บหนี้ปีละ 5% จาก 1.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 เป็น 1.78 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 และ 1.85 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อกระเงินสดจากการเก็บหนี้ (cash collection) ทรงตัวอยู่ที่ 16.2% (ลดลงจาก 30-40% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา)

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเชิงลบ เนื่องจากเป้าจัดเก็บเงินสดที่เติบโตน้อย คาดทำให้รายได้และกำไรสุทธิของ BAM เติบโตได้จำกัด อีกทั้งสะท้อนมุมมองของผู้บริหารที่การจัดเก็บเงินสดจะปรับขึ้นไม่มาก แม้มีแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้เริ่มเห็นจำนวนลูกหนี้ NPL รายใหญ่ภายใต้พอร์ต NPL ของ BAM ที่น้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้คาดโอกาสจะเกิด Positive Surprise ของผลดำเนินงานน้อยลงจากในอดีต เบื้องต้นยังคงคาด BAM จะมีกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 3,079 ล้านบาท โต 13% จากปี 2565

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BAM ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 21 เม.ย. 2566 ที่ 13.30 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 15.78 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 18.52 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BAM อยู่ที่ 0.98 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 2.11 เท่า

Back to top button