เบี้ยวหนี้ชุก ก.ล.ต.เปิด ‘ศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้’

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้


เส้นทางนักลงทุน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ เนื่องจากมีบริษัทผู้ออกหุ้นกู้หลายรายขาดสภาพคล่อง และมีการ “เบี้ยวหนี้” เพราะไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้

จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ปัจจุบันมีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) จำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท รวม 23 รุ่น คิดเป็นมูลค่ากว่า 24,158.66 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.หุ้นกู้ของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) 2.บมจ.ช ทวี (CHO) 3.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL)

4.บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) 5.บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) 6.บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) 7.บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) 8.บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) และ 9.บมจ.ริช เอเชีย สตีล (RICH) ซึ่งบางบริษัทผิดนัดฯ เพียง 1-2 รุ่น แต่บางบริษัทผิดนัดฯ ทั้งหมด

แน่นอนว่านักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายใหญ่ หรือสถาบัน ในฐานะเจ้าของเงิน เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ ย่อมจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ต้องการรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบริษัทเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ

จึงถือเป็นเรื่องดีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิด “ศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้” เพื่อให้บริการข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน โดยรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับหุ้นกู้ไว้บนเว็บไซต์สำนักงานก.ล.ต. www.sec.or.th โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566

“ศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้” นี้ เบิกฤกษ์ด้วยการประเดิมข้อมูลของ STARK ภายหลังบริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา และที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้มีมติเรียกให้หุ้นกู้ของบริษัทฯ ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (call default) จำนวน 2 รุ่น มีมูลค่ารวม 2,241 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 (STARK239A) มูลค่าคงค้าง 1,291.50 ล้านบาท มี บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

2.หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK249A) มูลค่าคงค้าง 949.50 ล้านบาท มีบมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เช่นกัน

การมีมติเรียกให้หุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นข้างต้นถึงกำหนดชำระโดยพลัน กรณีนี้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีการส่งหนังสือแจ้งให้ STARK ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถชำระได้ จะทำให้หุ้นกู้อีก 3 รุ่น มูลค่าคงค้างรวม 6,957.40 ล้านบาท เกิดการผิดนัดชำระด้วย (cross default) คือ

1.หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK245A) มูลค่าคงค้าง 1,701.10 ล้านบาท 2.หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 (STARK255A) มูลค่าคงค้าง 1,322 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ชุดนี้ มีบมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

และ 3.หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (STARK242A) มูลค่าคงค้าง 3,934.30 ล้านบาท มี บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงที่ STARK อาจจะผิดนัดชำระอีก 6,957.40 ล้านบาท ของหุ้นก็ทั้ง 3 ชุดดังกล่าวนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ STARK ยืนยันว่าอยู่ระหว่างเตรียมแผนธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนแผนธุรกิจสำรองเพื่อรองรับผลประกอบการตามงบการเงินประจำปี 2565 ที่จะเปิดเผยภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งบริษัทจะรวมการดำเนินการในส่วนหุ้นกู้ในแผนธุรกิจและแผนสำรอง โดยจะเปิดเผยแนวทางในการดำเนินการเพิ่มเติมในภายหลัง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้ทางการเงิน และเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของบริษัท STARK กำลังขอเจรจากับเจ้าหนี้ทางการเงินที่สำคัญทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัท เพื่อมิให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ใช้สิทธิแบบเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ก็พิจารณาถึงความเสี่ยงอันเกิดจากการกระทำใด ๆ ที่อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้เจ้าหนี้กลุ่มใด ๆ ได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้รายอื่น บริษัทจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มใด ๆ เป็นการเฉพาะ เนื่องจากอาจถูกเจ้าหนี้กลุ่มอื่นเพิกถอน หรือส่งผลกระทบในทางลบต่อการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มอื่น

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดเทรดชั่วคราวหุ้นสามัญ STARK เป็นวันแรก จากระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดให้เทรดได้ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 ราคาหุ้น STARK รูดลงไป 92.44% จากราคาปิดครั้งสุดท้าย 3.38 บาท ดิ่งสู่ 0.18 บาท เรียกว่าแทบไม่เหลือมูลค่า ซึ่งผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะรายย่อยเกือบ 1 หมื่นชีวิต บาดเจ็บกันถ้วนหน้าไปแล้ว

สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ STARK ที่จ่อคิวว่าอาจจะมีปัญหาผิดนัดชำระอีกหลายรุ่น รวมถึงหุ้นกู้ของบริษัทอื่น ๆ ที่มีปัญหาผิดนัดชำระด้วยเช่นกัน ขอให้ติดตามและใช้ “ศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้” ของก.ล.ต. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน โดยจะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับหุ้นกู้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหุ้นกู้ สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร.1207 กด 9 ตามวันและเวลาทำการ

Back to top button