จีนย้ายฐานผลิต หนุน AMATA เด่น

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีน


เส้นทางนักลงทุน

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางธุรกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีน การเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ส่งผลดีต่อไทยและเวียดนามที่จะถูกใช้เป็นฐานการผลิต และเป็นบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะเวียดนาม เนื้อหอม มียอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ FDI ลดลงเล็กน้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ความสนใจด้าน FDI ยังคงแข็งแกร่ง เวียดนามดึงดูดโครงการ FDI ใหม่ได้ 962 โครงการ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 578 โครงการ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในไทยและเวียดนาม จะได้รับผลบวกมากน้อยแค่ไหน ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินว่าการดำเนินงานในเวียดนามเป็นไปตามแผน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 3.3% และ FDI ของเวียดนามในไตรมาส 1 ปี 2566 ช้ากว่าคาด

แต่การดำเนินงานของบมจ.อมตะ วีเอ็น (AMATAV) ซึ่ง AMATA ถือหุ้น 73% ยังเป็นที่น่าพอใจ มีที่ดินอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา (LOI) มากกว่า 625 ไร่ คิดเป็น 83% ของเป้ายอดขายที่ดินในเวียดนามปีนี้ของ AMATA และจะขายโรงงาน (RBF) จำนวน 2 ยูนิต ในไตรมาส 4 ปีนี้

บริษัทตั้งเป้าจะโอนที่ดิน 313-375 ไร่ ในปีนี้ (ยังไม่มียอดโอนเลยในไตรมาส 1 ปี 2566) ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นจะสูงขึ้น เนื่องจากราคาขายปรับขึ้น 30% เป็น 85-90 ดอลลาร์สหรัฐ/ตร.ม. และจะมีการขาย RBF ที่เหลืออีกสองแห่ง ดังนั้นบริษัทจึงน่าจะขายที่ดินได้ตามเป้า 2,250 ไร่

รวมทั้งประมาณการรวมกำไรจากการขาย RBF สองแห่งแล้ว (กำไรก่อนหักภาษี 114 ล้านบาท) และบริษัทตั้งเป้าโอนที่ดิน 313-375 ไร่ ปีนี้ สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะไม่มีการโอนในปีนี้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 22.40 บาท

ด้านบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า AMATA คงเป้าการขายที่ดินในปี 2566 ที่ 2,250 ไร่ โดยในไตรมาส 1 มีการทําข้อตกลง (MoU) ร่วมกับ B.GRIMM Power เพื่อร่วมมือศึกษาพัฒนา European Smart City บนพื้นที่ 200 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี เน้นกลุ่ม Hi-Tech จากทวีปยุโรป

โดยในไตรมาส 1 AMATA มียอดขายที่ดินรวม 310 ไร่ หรือ 14% ของเป้ามาจากอมตะซิตี้ ระยอง จํานวน 251 ไร่ อมตะซิตี้ ชลบุรี จํานวน 30 ไร่ และ อมตะไทย-ไชนีส ระยอง จํานวน 29 ไร่ คาดอุปสงค์ของฐานลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรมยังเติบโตได้เมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อน และ AMATA อยู่ในช่วงเจรจาประมาณ 2-3,000 ไร่

คาดยอดขายที่ดินในไตรมาส 2 ปี 2566 จะเติบโตโดดเด่น และคงเป้าการขายที่ดินในปีนี้เป็นยอดขายในประเทศไทย 1,500 ไร่ เติบโต 131% จากปีก่อน และยอดขายจากประเทศเวียดนาม 750 ไร่ เติบโตจาก 45 ไร่ ในปี 2565 นอกจากนี้คาดว่าในปีนี้จะเริ่มมียอดขายที่ดินจากนิคมฯ ใหม่ในสปป.ลาวเข้ามา 200-300 ไร่

AMATA มีที่ดินรอเซ็นสัญญา (Backlog) 6,650 ล้านบาท เป็นยอดจากเวียดนาม 1,800 ล้านบาท คาดประมาณ 2,500 ล้านบาท สามารถบันทึกรายได้ในปีนี้ นํ้าหนักการบันทึกรายได้จะอยู่ในครึ่งหลังของปี ดังนั้นคาดรายได้ของปี 2566 อยู่ที่ 7,699 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน และกําไรสุทธิที่ 1,815 ล้านบาท ลดลง 22.5% จากปีก่อน โดยหากลบรายการกำไรจากการขายโรงงานในประเทศเวียดนามในปี 2565 ที่ 1,360 ล้านบาท จะส่งผลให้ Core Profit เติบโต 85% YoY

ยังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการลงทุนและ FDI ในประเทศไทย สําหรับพื้นที่ EEC คาดหวังการขยายการลงทุนและนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ และคาดว่า AMATA เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มีความพร้อมทั้งที่ดินพร้อมขาย ที่ดินรอการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

สําหรับประเทศเวียดนาม เริ่มมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ และติดตามประเด็นความเสี่ยงจากระบบสาธารณูปโภค ความเสี่ยงทิศทางเศรษฐกิจโลก ต้นทุนพลังงานที่ผันผวน และติดตามโอกาสและความเสี่ยงของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นตํ่า ให้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ฐาน P/E ที่ 17 เท่า ให้ราคาเป้าหมาย 26.50 บาทต่อหุ้น คงคําแนะนํา “ซื้อ”

จากมุมมองของโบรกเกอร์ ถือว่า AMATA เป็นอีกหนึ่งหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศของจีน

X
Back to top button