AH พอกันทีภารตะ.!?

บทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ AH (ตอนนั้นโรงงานถูกน้ำท่วม จนต้องหยุดการผลิตไปนานนับเดือน) ต้องออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ


บทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH (ตอนนั้นโรงงานถูกน้ำท่วม จนต้องหยุดการผลิตไปนานนับเดือน) ต้องออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ มีการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง อาทิ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถ Ford และ Mitsubishi ในประเทศไทย รวมทั้งรถ Honda และ Proton ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นการเติมเต็มปลายน้ำ

ส่วนในแนวดิ่ง ก็มีการขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ การไปจับมือกับพันธมิตรตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศอินเดีย ในนามบริษัทหลานที่ชื่อ Sakthi Auto Component Limited (SACL) โดยถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทลูก Sakthi Global Auto Holdings Limited (SGAH) สัดส่วน 77.04%

แต่ไม่รู้ไปทำอีท่าไหน…จู่ ๆ ก็เกิดข้อพิพาทซะงั้น จนล่าสุด AH ต้องยกธงขาว ไฟเขียวให้ SGAH ขายหุ้นที่ถืออยู่ใน SACL ทั้งหมด 77.04% ให้กับ ABT Transport Private Limited ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Sri M. Shanmugam และ Sri R. Vijayakumar ไปมูลค่า 82.68 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,995.56 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ชำระค่าหุ้น 82 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,970.74 ล้านบาท และดอกเบี้ยรับ 685,002 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24.81 ล้านบาท

เท่ากับเป็นการปิดฉากการลงทุนในแดนภารตะ ต่อไปคงไม่เบนเข็มไปอินเดียอีกแล้วมั้ง..!!

ว่าแต่มีข้อพิพาทอะไรกันนะ..?? ชักอยากรู้แล้วสิ

ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอะไร…แต่เชื่อว่า AH คงประเมินแล้วว่าไม่จบง่าย ๆ ก็เลยถอยดีกว่า…ไม่เอาดีกว่า เพื่อตัดความรำคาญ…

แต่งานนี้ไม่ใช่เจ็บเพื่อจบหรอกนะ…น่าจะเป็นจบแล้วหอบเงินก้อนใหญ่กลับบ้านมากกว่า

เพราะจากการขายโรงงานผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียครั้งนี้ จะทำให้ AH มีเงินสดเข้ากระเป๋าเกือบ 3,000 ล้านบาทเชียวหนา ซึ่งก็คงบุ๊กเข้ามาภายในไตรมาส 1/2567 แหละ นั่นจะทำให้ AH ประเดิมงบไตรมาสแรกปีมังกรด้วยตัวเลขที่เริ่ดหรูอลังการน่ะสิ..!?

ขณะที่เงินก้อนดังกล่าว AH ระบุชัดจะเอาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และการชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น

ว่าไปแล้ว ยุทธศาสตร์การไปตีเมืองขึ้นแดนภารตะของ AH ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร…ถือเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าอินเดียเป็นตลาดที่บริษัททั่วโลกหมายปอง ด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 1,400 ล้านบาท ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

แต่ต้องบอกก่อนว่า ทุกบริษัทที่ไปใช่ว่าจะประสบความสำเร็จหรอกนะ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นค่อนข้างหลากหลาย ประกอบกับกฎหมายในแต่ละเมืองก็ต่างกัน ทำให้มีไม่น้อยที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน…

แหม๊…ชักเป็นห่วงเพื่อนร่วมทางที่ไปบุกตลาดอินเดียของ AH แล้วสิ อย่างบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ที่ไปจับมือกับบริษัท Srinivasa Cystine Private Limited หรือ SCPL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสำหรับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในเครืออะแวนติ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารทะเลของอินเดีย เพื่อทำธุรกิจจัดหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหารคุณภาพสูงในตลาดอินเดีย…ถึงตอนนี้ไม่รู้จะซัคเซสหรือเปล่า…? เพราะข่าวคราวเงียบหายไปเลย

หรือจะเป็นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่เข้าลงทุนใน Avaada Energy Private Limited (Avaada) หนึ่งในบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดีย…ก็ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนแค่ไหน..? หวั่นใจจริง ๆ พับผ่าสิ..!?

กลับมาที่ AH แม้จะปิดฉากการลงทุนในอินเดียไปแล้ว แต่ด้วยมีเงินติดไม้ติดมือกลับมาเกือบ 3,000 ล้านบาท จึงเห็นหุ้นตอบรับข่าวในเชิงบวก วานนี้ (3 ม.ค.) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 2.63% ปิดตลาดที่ 29.25 บาท

ก็คงแฮปปี้ไปตาม ๆ กัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button