‘เคทีซี ดิจิทัล’ บัตรรูดปรื๊ดสุดล้ำ

KTC ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการบัตรเครดิต ด้วยการออก “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ครั้งแรกในประเทศไทย


เส้นทางนักลงทุน

KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการบัตรเครดิต ด้วยการออก “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ครั้งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับผู้ถือบัตรฯ

KTC DIGITAL CREDIT CARD ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านความปลอดภัยขั้นกว่าทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ที่ KTC ชูจุดขาย 3 จุดเด่น คือ 1.Digital First เพราะสามารถใช้จ่ายได้ทันทีหลังได้รับการอนุมัติผ่านช่องทางออนไลน์ การสแกนจ่ายด้วย QR Pay หรือจะผูกบัตรกับระบบชำระเงินบนอุปกรณ์ต่าง ๆ

2.Dynamic CVV ซึ่งเป็นตัวเลขหลังบัตรที่เป็นรหัสความปลอดภัย สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกครั้งที่มีการร้องขอ โดยสามารถใช้งานได้ภายใน 24 ชั่วโมงต่อการร้องขอ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ร้องขอ เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ถือบัตร

3.Numberless Card บัตรนี้จะเป็นบัตรพลาสติกใสโปร่งแสง ไม่มีหมายเลขหน้าบัตร ไม่มีแถบแม่เหล็ก ผู้ถือบัตรจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวบนหน้าบัตร

KTC คาดหวังว่า KTC DIGITAL CREDIT CARD จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ต้องการมีบัตร โดยเฉพาะการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งคนที่สนใจสามารถขอมีบัตรได้ง่าย ๆ ด้วยการสมัครผ่านเว็บไซต์ของ KTC หรือ KTC LINE Official account(@ktc_card) เพียงกรอกข้อมูลและโหลดเอกสารครบถ้วน ผลการพิจารณาจะแจ้งผ่าน SMS ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้ เบื้องต้นจะเป็นการเปิดตัวในส่วนของ “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล แพลทินัม วีซ่า” และ “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล แพลทินัม มาสเตอร์การ์ด” ก่อน

KTC คาดหวังว่าทั้งปี 2567 นี้จะมีลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ขอเปิดบัตร KTC DIGITAL CREDIT CARD ราว 1 แสนใบ แบ่งเป็นฝ่ายละ 50% หากภายในครึ่งแรกของปีนี้ได้รับเสียงตอบรับดี ก็จะพัฒนาไปยังเซกเมนต์อื่น ๆ

ส่วนภาพรวมทั้งปี KTC ตั้งเป้าหมายบัตรใหม่ทั้งสิ้น 2.3 แสนใบ มองว่าตลาดบัตรเครดิตยังสดใส ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรยังเติบโตได้ดี โดย KTC มีส่วนทางการตลาด หรือมาร์เก็ตแชร์ 12% จากมูลค่ารวมตลาดบัตรเครดิต 2 ล้านล้านบาท เชื่อมั่นว่าทั้งปีนี้ในด้านยอดการใช้จ่ายจะเติบโตได้ 15% จากปี 2566 เติบโตได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10%

และเชื่อมั่นว่ากรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเกณฑ์อัตราชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 จะไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากฐานลูกค้าของ KTC จะมีการชำระสูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว แบ่งเป็น สัดส่วนลูกค้า 70% จะชำระเต็มจำนวน ขณะที่อีก 30% จะชำระขั้นต่ำ

โดยมีลูกค้าที่จัดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพียง 1.3% ต่ำกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.7-3% เนื่องจากจะให้ความสำคัญกับการคัดเลือกและดูแลคุณภาพลูกค้า ปัจจุบัน KTC มีฐานลูกค้าที่มีเงินเดือนระดับ 15,000-30,000 บาท สัดส่วน 65% ที่เหลือจะเป็นลูกค้าที่มีฐานเงินเดือนระดับสูงกว่า

จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทำให้โบรกเกอร์มีมุมมองต่อ KTC ในปี 2567 ว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจ และแนะนำ “ซื้อ” โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดาโอ (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมายที่ 55 บาท อิง P/BV ที่ 3.5 เท่า มองกำไรสุทธิปีนี้ 8 พันล้านบาท เติบโต 9% จากปีก่อน เฉพาะผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 จะขยายตัวจากทั้งปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากโครงการ e-Receipt และรับรู้การใช้จ่ายที่ล่าช้าบางส่วนในปลายปีที่ผ่านมา

ภาพรวมทั้งปี สินเชื่อจะขยายตัว 8% จากปีก่อน การใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 รวมทั้งประเมินมูลค่าที่รูดต่อครั้งเพิ่มขึ้น ภายหลังได้ปรับเพิ่มฐานลูกหนี้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงขึ้น

แนวโน้ม NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% เพราะสิ้นสุดการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำให้บริษัทจะกลับมาจัดชั้นลูกหนี้เป็นปกติ (restage) และกดดันจากการปรับอัตราจ่ายขั้นต่ำ หรือ Minimum payment เป็น 8% และจะเพิ่มเป็น 10% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 ตลอดจนการใช้ persistent debt ในเดือน เม.ย. 2567

แต่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวมากกว่าอุตสาหกรรม คาดว่าจะโตต่อเนื่องตามตัวเลขเงินเฟื้อที่ลดลง รวมทั้งได้ผลบวก e-Receipt มากขึ้น จากมีฐานลูกหนี้มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 50,000 บาทมาก สัดส่วนลูกหนี้จ่ายชำระขั้นต่ำน้อยกว่าคู่แข่ง

ส่วนไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา ประเมินกำไรสุทธิที่ 1.76 พันล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อน แต่ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน จากต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.9%, ค่าใช้จ่ายพนักงานและการตลาดสูงขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล และ credit cost สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเป็น 5.9% ตามการตัดจำหน่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้น เพื่อรักษา NPL ทรงตัวที่ 2.3% แต่มีตัวหนุน คือการขยายตัวของสินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อพี่เบิ้มยังทรงตัว

“บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” นอกจากจะเป็นนวัตกรรมใหม่ครั้งแรกในเมืองไทยที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้ถือบัตรแล้ว น่าจะเป็นอีกหนึ่งในแรงส่งให้ KTC เติบโตต่อเนื่องได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2567 นี้

Back to top button