ศักยภาพบจ.อ่อนแอ ต้นเหตุ ‘ฝรั่ง’ ทิ้งหุ้นไทย

1 เดือนของปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงภายหลังจากเริ่มศักราชใหม่ จาก 1,415 จุด (28 ธ.ค. 66) เหลือ 1,364 จุด (31 ม.ค. 67) ลดลง -51.33 จุด คิดเป็นลดลง -3.63%


1 เดือนของปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงภายหลังจากเริ่มศักราชใหม่ จาก  1,415 จุด (28 ธ.ค. 66) เหลือ 1,364 จุด (31 ม.ค. 67) ลดลง -51.33 จุด คิดเป็นลดลง -3.63%

สภาพตลาดยังคงเหมือนเดิม คือปรับตัวลดลง การขนเงินออกจากตลาดหุ้นไทย ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติ ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ

ภายหลังได้อ่านจดหมาย ของกองทุน ต้นโพธิ์ ที่เป็น Hedge Fund ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย และเคยได้รับผลตอบแทนติดอันดับโลกมาแล้วในอดีต ยังต้องขออำลาปิดกองทุนไปแบบดื้อ ๆ หลังจากที่มองว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ อย่างไทย ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ที่จะเข้ามาผลักดันให้เกิด S Curve

ปัญหาที่ว่า เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาออกดอกผลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ การปล่อยให้ธุรกิจ เดินไปด้วย การผูกขาดของคนไม่กี่ตระกูล ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

ความน่าสนใจและเสน่ห์ในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Markets:EM) อย่างตลาดหุ้นไทย แทนที่จะเป็นทางเลือกสำหรับการเติบโต แต่กลายเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ที่ยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจแบบเก่า ที่มีนวัตกรรมเพียงน้อยนิด

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เอกชนรายกลาง-เล็ก บางรายไม่สามารถแข่งขันได้

เนื่องจากรัฐบาล มีส่วนในการสนับสนุนการผูกขาด ทำให้คนไม่กี่ตระกูลได้รับความสะดวกสบายในการต่อยอดธุรกิจแบบเก่า ซึ่งนำไปสู่การขาดนวัตกรรม จนสุดท้ายไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

ในขณะที่ภาครัฐ มีผลงานในช่วง 6 เดือน ทำได้ดีสุดแค่การมุ่งเน้น แต่ฟรีวีซ่า ไร้นวัตกรรมใหม่ใด ๆ โดยไม่สนใจว่า คนในประเทศส่วนใหญ่จะอดอยากสักแค่ไหน

นี่คือ สาเหตุที่ต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่องมาจนข้ามปี และเดือนนี้ มกราคม 2567 ก็ยังขายสุทธิต่อเนื่องอีก 30,874 หมื่นล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงเกือบ เท่าตัว เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยของการขายสุทธิรายเดือนในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.58 ล้านบาทต่อเดือน

ตัวเลขการขายสุทธิ ของต่างชาติ ในอัตราเร่งที่สูงขึ้น น่าจะบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่ถูกประเมินออกมาจาก บรรดา Fund Manager กองต่างชาติ ว่า หากขายช้า อาจจะขายได้ในมูลค่าที่ลดลงอีกในอนาคต

ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ว่า แรงขายที่มากขึ้น เกิดจากการมีออเดอร์ bid ที่เข้ามารองรับเพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกองทุนในประเทศ ที่ได้อ่าน และเชื่อ บทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างชาติ และโบรกเกอร์ไทย ที่ต่างออกมาเชียร์ให้ซื้อหุ้นไทยกัน จ้าละหวั่น ก่อนหน้านี้

โดยบทวิเคราะห์ และการวิเคราะห์ ให้เหตุผลต่าง ๆ นานา ทั้งแรงขายแผ่ว หุ้นไทยมาถึงจุดต่ำสุด ฯลฯ โดยที่ไม่มองว่า สถานะหุ้นไทยยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งโครงสร้างธุรกิจที่ดำเนินอยู่ (โลกเก่า) หรือ ระบบอุปถัมภ์ (ผูกขาด) ที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา หรือต้องการคิดเพื่อต่อสู้กับโลกภายนอกที่อยู่เลยออกจากเขตด้านขวานทองออกไป

เพราะลำพัง การได้รับแรงอุปถัมภ์จากรัฐ ก็ทำให้ตนเอง (ผู้ผูกขาด) อยู่กินไปได้อีกนาน อย่างน้อย 10-20 ปีข้างหน้า แม้ผู้บุกเบิกที่ได้สิทธิ ผูกขาด จะเริ่มล้มหายตายจากไปบ้างแล้วก็ตาม

การเป็นเสือนอนกิน หลังจากที่จ่ายเงินก้อนโตแบบครั้งเดียวให้กับผู้คุ้มครอง ทำให้เจ้าของกิจการที่เคยมีศักยภาพในอดีต เริ่มที่จะเข้าสู่ทางตันบ้างแล้ว ในบางกลุ่ม

นี่คือ เหตุผลที่ได้มาจาก Fund Manager ของกองทุนต่างชาติ ที่ได้ขนเงินออกจากตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่ต่างจาก จดหมายของ “กองทุนต้นโพธิ์” แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากนัก

กลับมาคำถามที่ว่า ในเมื่อเรารู้ปัญหาแล้วว่า อะไรที่ทำให้ต่างชาติขนเงินออก ไปแล้ว กลับมาคำตอบว่า “อะไรที่จะทำให้ต่างชาติกลับมาอีกครั้ง?”

คำตอบก็ง่ายมากคือ ต้องมีหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจน่าสนใจ ลำพังจะหวังพึ่งความคิดหรือมันสมองที่จะมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในเร็ววันคงยาก แต่อาจไม่ยากเท่า หากนวัตกรรมนั้นไม่ได้รับการอนุมัติหรือเห็นชอบจาก คนใหญ่คนโตในบ้านเมือง หรือ ผู้ที่ได้รับสิทธิผูกขาด

หากนวัตกรรมดังกล่าวไป ลดทอนความร่ำรวย ของมหาเศรษฐีที่ผูกขาดไว้อยู่ก่อนแล้ว ยิ่งไม่มีสิทธิที่จะได้เกิดอย่างแน่นอน เพราะจะถูกห้ามด้วยกฎระเบียบบางอย่าง จนเป็นหมันและแท้งไปในที่สุด

แทนที่ผลประโยชน์ของนวัตกรรมเกิดใหม่ จะถูกเผยแพร่ และใช้อย่างกว้างขวาง และมีต้นทุนที่ถูก เหมือนที่รัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมจะสนับสนุน หรือมีช่องทางอื่นให้เข้าถึงได้ กลายเป็น นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องไปตกอยู่ในมือ นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจ จึงจะเกิดได้ ยิ่งถ้าไม่ใช้ลูกหลานคนเหล่านั้น ก็จบ

ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ และฉาบฉวย และเร็วที่สุดมากกว่าการคิดนวัตกรรมใหม่ คือ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” เอาองค์กรที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มา Privatization แบบ PTT หรือ AOT ก่อน

อย่างน้อย ๆ รัฐบาล ก็ถือหุ้นเกิน 50-70% ได้ โดยไม่มีปัญหากับคำว่า “ขายชาติ“ ที่ในอดีตเคยใช้หลอกให้คนเชื่อมาก่อน

จากนั้นค่อยไปจับ รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมาตลอด มาปรับโครงสร้างองค์กร เขย่าเอาไปล้างน้ำใหม่ หาคนเข้าไปประเมินสินทรัพย์ชิ้นไหนที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือต่อยอดได้ ก็เอามาปัดฝุ่น รื้อขึ้นมาทำใหม่ หากสินทรัพย์ใดไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแต่รายจ่ายก็ประเมินกันว่าจะต้องทำอย่างไรกับมัน อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป

นอกจากจะได้สมบัติชาติกลับมา บริหารให้มันมีกำไร และเลี้ยงตนเองได้แล้ว ยังเป็นการตัดช่องว่าง การคอร์รัปชั่นของคนในองค์กรที่ฉ้อฉล จากภาษีประชาชนได้อีกมหาศาล

ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเมื่อก่อน เพราะในเมื่อทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นศูนย์รวมสุดยอดนวัตกรรมของโลกอย่าง Nasdaq กลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากกว่า

ใครล่ะจะมายอมเสียเวลาลงทุนกับ EM อย่างตลาดหุ้นไทย

Back to top button