พาราสาวะถี

นิตยสารไทม์ นิตยสารที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ประจำวันที่ 25 มีนาคมนี้ ภาพปกเป็น เศรษฐา ทวีสิน กับฉายาที่ได้รับ “เดอะ เซลส์แมน”


นิตยสารไทม์ นิตยสารที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ประจำวันที่ 25 มีนาคมนี้ ภาพปกเป็น เศรษฐา ทวีสิน กับฉายาที่ได้รับ “เดอะ เซลส์แมน” เป็นการสัมภาษณ์โดย ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ผู้ที่เคยสัมภาษณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกไทม์มาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน แน่นอนว่า เศรษฐาไม่ใช่ผู้นำไทยคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสารที่ทรงอิทธิพลฉบับนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีนายกรัฐมนตรีจากดินแดนสยามได้ขึ้นปกมาแล้ว 3 คนคือ ชวน หลีกภัย, ทักษิณ ชินวัตร และบิ๊กตู่

พิเศษกว่าคนอื่นคงเป็นทักษิณอดีตนายกฯ ผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสูงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ขึ้นปกไทม์ถึง 3 ครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของเศรษฐานั้นบทความในการสัมภาษณ์หัวข้อว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยลงมือลุยงาน แต่เขาจะช่วยเยียวยาประเทศได้หรือไม่” โดยแคมป์เบลล์ผู้สัมภาษณ์เร้าความน่าสนใจต่อบทสนทนาว่าด้วยเสน่ห์อันล้นเหลือของเซลส์แมน ที่กล่าวบอกว่า “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง”

วลีทองดังว่าเป็นสิ่งที่เศรษฐานำไปพูดบนเวทีที่ไปร่วมประชุม รวมไปถึงเวทีการพูดคุยระดับทวิภาคี พหุภาคี กับผู้นำจากหลายประเทศ และการพบปะกับนักธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้นำประเทศไทยย้ำต่อการให้สัมภาษณ์กับไทม์ครั้งนี้ก็คือ ความเสี่ยงของประเทศไทยซึ่งขณะนี้อยู่ใน “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่ต้องรับมือโดยตรง รัฐบาลได้ลดภาษีเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา และวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะมอบเงิน 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภค

ขณะเดียวกัน ก็เหมือนกับการได้ระบายหรืออาจจะมีใครมองว่าเป็นการประจานการวางกลไกที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลก็ตามแต่ นั่นก็คือ ประเด็นที่ถูกถามถึงอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นก้างชิ้นโตคอยขวางเรื่องนี้ ทั้งการยืนยันเศรษฐกิจไม่วิกฤต และกลัวว่าเงินที่ฉีดเข้าไปในตลาดจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเศรษฐาชี้ว่า “การเป็นซีอีโอของบริษัท ทำให้คุณรู้ว่าอำนาจมีจำกัด แต่ที่ผมประหลาดใจมากที่สุดคือการเป็นนายกรัฐมนตรีกลับไม่มีอำนาจ”

ส่งสัญญาณกันแรง ๆ แต่คงไม่มีผลอันใด ในเมื่ออีกฝ่ายก็เลือกที่จะสื่อสารกับสื่อต่างประเทศเหมือนกัน ย้ำในจุดยืนของตัวเองและองค์กร ที่ไม่ตอบรับดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของฝ่ายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ก็น่าจะพอคาดเดาคำตอบที่เศรษฐาจะนำไปชี้แจงต่อการถูกยื่นซักฟอกตามมาตรา 153 ของพวกลากตั้ง และตามมาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยใช้ความตั้งใจในการทำงานในฐานะเดอะ เซลส์แมน แจกแจงแนวทางการทำงาน และผลของงานที่จะปรากฏในอนาคต

อีกประเด็นที่ทางนักข่าวไทม์ตั้งคำถามต่อเศรษฐาคือ เสียงวิจารณ์ที่ว่าเป็นหุ่นเชิดของทักษิณ ที่คอยกดรีโมตให้หันซ้ายหันขวา โดยเจ้าตัวตอบสั้น ๆ แต่ชัดเจนว่า “ผมควบคุมอยู่นะครับ” เป็นการสื่อสารถึงอำนาจที่มีอยู่ในมือในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะการปรับ ครม. หรือแม้แต่การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ที่เศรษฐาจะใช้วิธีการทำงานแบบแลกเปลี่ยน พูดคุย เพื่อให้เกิดการตกผลึก พร้อมทั้งให้โอกาสคนทำงานได้แสดงฝีมือเต็มที่ แต่ก็จะมีดัชนีชี้วัด และเงื่อนเวลาที่ต้องประเมิน

เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งต้องเปลี่ยนแปลง ต้องขยับ ไม่จำเป็นต้องรอสัญญาณจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเศรษฐามีการติดตามงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับรัฐมนตรีของพรรคแกนนำที่จะเห็นได้ว่าหลังการประชุม ครม.แทบทุกสัปดาห์จะมีการเรียกประชุมกันเป็นกรณีพิเศษ โดยจนถึงเวลานี้ที่มีกระแสข่าวจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในบางตำแหน่ง เป็นเพียงการโยนหินถามทาง หรือการปล่อยข่าวจากพวกอยากได้อยากเป็นเท่านั้น

คำตอบทิ้งท้ายที่มีต่อนิตยสารไทม์ เรื่องที่ต้องตัดสินใจลำบากในการยกระดับคนในสังคมโดยต้องอาศัยกลุ่มอีลิทสนับสนุน รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่ต้องการอย่างยิ่งว่า “จากการเป็นซีอีโอบริษัทมาเป็นซีอีโอของประเทศ ก็เหมือนมีผู้ถือหุ้นมากขึ้น และสิ่งที่เหมือนในห้องประชุมบอร์ด อำนาจนั้นไม่เคยแบ่งแยกให้เท่ากันได้” เป็นการอธิบายให้เห็นถึงความเป็นจริงในกระบวนการทำงานของรัฐบาลผสม และกลไกอำนาจของประเทศไทยที่ไม่ได้เหมือนสากล

แน่นอนว่า การสื่อสารแบบนี้มันย่อมสะท้อนถึงการได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ของเศรษฐาเอง รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ถูกตราหน้าว่าตระบัดสัตย์ พลิกขั้วมาจับมือกับพรรคที่เคยร่วมกับพวกอนุรักษนิยมสุดโต่งมาตั้งรัฐบาล เหมือนที่เจ้าตัวถูกนักข่าวไทม์ถามว่า ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ต้องร่วมมือกับกลุ่มที่ขัดขวางการปฏิรูปว่า “ความกดดันไม่ได้เกิดจากการเป็นรองแชมป์ แต่มาจากความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน นั่นคือความกดดันที่ผมเผชิญทุกวัน”

อาจจะเรียกได้ว่า กระแสกดดันใด ๆ ก็ไม่หนักหนาสาหัสเท่าความคาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นผลงานของรัฐบาล ยิ่งเดินภายใต้แบรนด์แกนนำอย่างเพื่อไทยด้วยแล้ว ต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงเป็นธรรมดา ส่วนกลุ่มอีลิทที่เคยถูกมองว่าเป็นตัวการขัดขวางการปฏิรูปและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนั้น ผลพวงจากการอยู่ในอำนาจของพวกเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้เห็นแล้วว่า ความสุดโต่งไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญได้

นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดดีลพิเศษ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ทักษิณ เพื่อไทย และพรรคในซีกอนุรักษนิยมสุดโต่ง แต่ยังหมายถึงตัวแทนผู้มีอำนาจที่แท้จริงของหัวขบวนฝ่ายค้านในปัจจุบันด้วย ต้องเดินตามแนวทางที่กำหนดเป้าหมายแรกคือ ต้องไร้ความขัดแย้ง ก้าวต่อไปคือการทำทุกวิถีทางให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ส่วนกระบวนการทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบพรรค การตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของใคร ฝ่ายไหนก็ตาม ให้ว่ากันไปตามครรลอง เพราะการเมืองหลังเลือกตั้งรอบนี้เกือบจะปกติแต่ยังปกติไม่ได้ ฝ่ายอยู่ยาวถูกตัดตอนไปแล้ว แต่ยังเหลือพวกสุดโต่งอีกฝั่งที่ต้องจัดการให้อยู่กันอย่างเข้าใจให้ได้

Back to top button