ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ใคร (หุ้น) ได้-ใครเสีย???

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ย่อมจะต้องมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน


เส้นทางนักลงทุน

มีกระแสข่าวที่ออกมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ไฟเขียวปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 400 บาท นำร่องกิจการโรงแรมในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว เพื่อเป็นของขวัญช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้

มติดังกล่าวเป็นผลจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว โดยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2567 นี้

ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ย่อมจะต้องมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากกลุ่มโรงแรมจะมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นของแต่ละโรงแรมจะมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ข่าวหุ้นธุรกิจ” สำรวจมุมมองของโบรกเกอร์อย่างน้อย 3 รายที่มีต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อหาคำตอบนี้ พบว่า บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองพนักงานในโรงแรมส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา ผลกระทบจึงค่อนข้างจำกัด จึงมองว่าแม้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่นี้ ก็อาจไม่มีผลกระทบรุนแรงอย่างที่หลายคนกังวลกันอยู่ ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและเล็ก อาจมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นบ้าง

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ผู้เล่นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากสุดคือ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และบมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) เพราะมีสัดส่วนรายได้ในไทยสูง แต่ประเมิน Downside จำกัด ผลกระทบต่อกำไรปกติปี 2567 จะมีเพียง 1-2%

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวมีผลในไตรมาส 2 ปีนี้ ดังนั้นกำไรปกติงวดไตรมาสแรกของหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เติบโตจากไตรมาสก่อน เพราะเป็นไฮซีซั่น (High Season) ต่อเนื่อง แต่ทำได้เพียงทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน เพราะถูกกดดันจากต้นทุนการดำเนินงาน และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 ของปี 2567 เบื้องต้นยังมองกำไรปกติกลุ่มท่องเที่ยวเติบโตได้จากปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามปัจจัยฤดูกาลของไทยและมัลดีฟส์เริ่มเข้าสู่โลว์ซีซั่น (Low Season)

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) มองเป็นลบต่อกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อกลุ่มโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะ CENTEL และ ERW เช่นกัน เนื่องจากมีสัดส่วนโรงแรมในประเทศไทยถึง 80% และ 88% ตามลำดับ

ในส่วนของ CENTEL พบว่าจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2567 ให้ปรับลดลงราว 1.5-2.0% และ CENTEL จะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิมากที่สุดในกลุ่มท่องเที่ยว หรือกำไรจะหายไป 36 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีผลต่อ downside กำไรสุทธิปีนี้ประมาณ 2%

รองลงมาคือ ERW จะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิราว 1.5% ส่วนบมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และ บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) ซึ่งมีสัดส่วนโรงแรมในประเทศไทยไม่มากที่ราว 11% และ 18% ตามลำดับ ทำให้มีผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มฯ

อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะใช้วิธีการขึ้นค่าห้องพัก (ADR) เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้บ้าง ทำให้ผลกระทบจะจำกัดมากขึ้น

ทั้งนี้ มองภาพรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2567 ประมาณในกรอบ 33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และคาดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะอยู่ที่ 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 56% จากปีก่อน ได้ผลดีจากการยกเว้นวีซ่าถาวรไทย-จีนและการเพิ่มสายการบินจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียก็ยังคงเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ขณะที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้และรัสเซียมีแนวโน้มลดลง โดยหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมากไปน้อยเรียงตามสัดส่วนรายได้จากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่ ERW, CENTEL, MINT, SHR

จากผลการสำรวจพบว่า โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เลือก MINT เป็น Top Pick ของกลุ่มฯ ตอบรับธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งจากงวดเดียวกันปีก่อน และรายไตรมาส เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวในไทยและยุโรปยังเติบโตดี ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนเริ่มทยอยลดลง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีไม่มาก และราคาหุ้นยังซื้อขายบน P/E ปี 2567 ที่ 27 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ 32 เท่า อีกด้วย

สุดท้ายผลกระทบของโรงแรมไหนจะมากน้อย อย่างไรก็คงต้องไปวัดกันที่ความสามารถในการผ่องถ่ายภาระด้วยการปรับขึ้นอัตราค่าห้องนั่นเอง

Back to top button