KTC ลดเป้าสินเชื่อ-NPL ต่ำ 2%

KTC โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 1.สินเชื่อบัตรเครดิต 65.70% 2.สินเชื่อบุคคล 31.47% 2.1 สินเชื่อบุคคล KTC PROUD 29.17%


คุณค่าบริษัท

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 1.สินเชื่อบัตรเครดิต 65.70% 2.สินเชื่อบุคคล 31.47% 2.1 สินเชื่อบุคคล KTC PROUD 29.17% 2.2 สินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน 2.30% 3.สินเชื่อตามสัญญาเช่าซื้อ 2.83%

KTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 1,802.99 ล้านบาท ลดลง 3.67% จากไตรมาส 1/2566 แต่เพิ่มขึ้น 2.37% จากไตรมาส 4/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 1,761.33 ล้านบาท กำไรไตรมาส 1 สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด กำไรที่ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 มาจากรายได้การดำเนินงานที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (Opex) ที่ลดลงเล็กน้อย แต่กำไรที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 1/2566 มาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ทีสูงขึ้นมาที่ 6.19% เทียบกับ 5.27% ในไตรมาส 1/2566

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC อยู่ที่ 69,419 ล้านบาท ขยายตัว 8.5% จากไตรมาส 1/2566 และสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาที่ 105,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 1/2566 แต่ลดลง 6% จากไตรมาส 4/2566 ขณะที่สินเชื่อ KTC พี่เบิ้มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รถแลกเงิน มียอดสินเชื่อใหม่ 611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82.6% จากไตรมาส 1/2566 เทียบกับเป้าหมายทั้งปีที่ 6 พันล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC อยู่ที่ 12.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ 12.2%

KTC ใช้นโยบายการตัดหนีเสียเร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 และลดเป้าเติบโตของสินเชื่อปี 2567 จาก 10% เป็น 6-7% และเป้าหมาย NPL ratio เป็นต่ำกว่า 2.0% จาก 2.2% บล.กสิกรไทย เชื่อว่าเป้าการเติบโตของสินเชื่อที่ 6-7% เทียบกับ 2.0% ในไตรมาส 1/2567 และสินเชื่อจากบัตรกดเงินสด KTC Proud เติบโตที่ 5.0% เทียบกับ 3.9% ในไตรมาส 1/2567 ดูเป็นไปได้ แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ตั้งเป้าโต 15% (เทียบ 8.5% ในไตรมาส 1/2567) และการปล่อยสินเชื่อใหม่ KTC พี่เบิ้มที่ 6 พันล้านบาท ค่อนข้างท้าทาย ขณะที่เป้า NPL ปี 2567 ที่ต่ำกว่า 2% เทียบกับ NPL ไตรมาส 1/2567 ที่ 2.0% น่าจะเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเช่นกัน

KTC พบว่าคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงเม.ย.-พ.ค. 2567 มีเสถียรภาพดี โดย CEO ตั้งเป้า credit cost ในปี 2567 อยู่ที่ 5-6% และคาดว่าจะลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ CFO คาดว่า NIM จะอยู่ที่ประมาณ 13% และต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.0-3.1% ในปี 2567 จาก 2.9% ในไตรมาส 1/2567 ส่วนมาตรการของธปท.ไม่มีผลกระทบต่อ KTC มากนัก ผู้บริหารเปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้มีลูกค้าเพียง 6 รายที่เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สามารถแปลงสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อผ่อนชำระที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าได้ ขณะที่ลูกค้าที่ไม่สามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตขั้นต่ำที่สูงขึ้นเป็น 8% จาก 5% ในปี 2567 ได้มีเพียงแค่น้อยกว่า 10%

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ KTC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 26,342.44 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 7,679.09 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 46.75 บาท จาก 9 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567-2568 ลง 6% และ 3% มาเป็น 7.36 พันล้านบาท และ 8.2 พันล้านบาท เนื่องจากปรับสมมติฐาน credit cost ขึ้น 0.49% และ 0.60% เป็น 6.07% และ 6.00% ในปี 2567-2568 คาดว่าการเติบโตของกำไรจะไม่ค่อยน่าตื่นเต้นในปี 2567 ที่ 1% จากปี 2566 ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาด KTC จะมีกำไรสุทธิในงวดปี 2567 ที่ 8,056 ล้านบาท โต 10.4% เมื่อเทียบปี 2566 จากการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KTC ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ 44.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 15.88 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 16.40 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KTC อยู่ที่ 3.06 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 1.45 เท่า

Back to top button