ข่าวร้ายจากผู้ว่าฯ ธปท. เรื่องลดดอกเบี้ย

จากคำแถลงของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่ว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน ถือว่าเพียงพอที่จะรองรับกับพายุเศรษฐกิจ


จากคำแถลงของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ที่ว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน ถือว่าเพียงพอที่จะรองรับกับพายุเศรษฐกิจที่กำลังจะเข้ามาถึงไทยได้ในระดับหนึ่ง “ขณะนี้มองว่าเพียงพอแล้วที่จะรองรับการ slow down หาก outlook เปลี่ยน เราก็พร้อมปรับ” แต่หากมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่ ธปท.มองในขณะนี้ ก็พร้อมจะปรับตัว

เป็นการส่งสัญญาณร้ายที่ชัดเจนว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่องหรือเงินฝืดอย่างเต็มตัวซึ่งมีความหมายมากกว่าคำปลอบใจเพียงสั้น ๆ ของผู้ว่าฯ ธปท. ต่อการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันสองครั้งของคณะกรรมการการเงิน (กนง.)

ภาวะกับดักสภาพคล่องในความหมายของเคนส์ คือภาวะการลงทุนต่ำมาก เนื่องจากนักลงทุนถือเงินไว้เฉย ๆ เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของวงจรเศรษฐกิจทำให้เกิดการว่างงานอย่างมหาศาลตามมา

จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องแก้ไข

แต่กรณีของไทยนั้นเศรษฐกิจบางภาคถูกภาวะเงินเฟ้อกดดัน เช่นราคาพลังงาน และการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

คอยกดดันให้การแก้ปัญหาทำได้ยากยิ่งขึ้นในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการสภาวะว่างงานและเงินเฟ้อ ทำให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐสูญเปล่าไปกับปัญหาเงินฝืดที่แก้ไม่ตก จากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไร้ประสิทธิภาพและการรั่วไหล รวมถึงการคอร์รัปชัน

ภาวะกับดักสภาพคล่องจึงส่งผลให้ทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศเกิดเป็นสภาวะเงินเฟ้อบางส่วนและภาวะหยุดชะงักงันในการผลิต ซึ่งเรียกว่าภาวะ Stagflation ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการล้มรัฐบาลที่ถูกมองว่าขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

การลดดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติจนต่ำติดพื้นจึงไม่ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับสังคมไทยที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพราะมีความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นจุดเปราะบางของสังคมอยู่แล้ว จากการที่มีคนร่ำรวยเพียง 1% และเอาเปรียบสังคมอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน ลองคิดดูง่าย ๆ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงยวบยาบ ทำให้ความต้องการถือสินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทถดถอยลง ในขณะที่คุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมแย่ลงด้วย สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจนอาจกลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมเมื่อไหร่ก็ได้

จุดเปราะบางทางสังคมยากจะคาดเดาว่าคนในสังคมไทยจะมีปฏิกิริยาต่อความอึดอัดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะเงินฝืดนี้อย่างไร  ที่แน่นอนที่สุดคือรัฐบาลจะต้องตกเป็นแพะรับบาปจากความไร้ประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้นเหมือนในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 และหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

ข้อเท็จจริงที่ถูกซุกซ่อนไว้หลังคำแถลงของผู้ว่าฯ ธปท. จึงถือว่าน่าสะพรึงกลัวและน่ายินดีพร้อมกันไป

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button