คริปโทเคอร์เรนซีได้ฤกษ์เปิดแล้ว (จบ)

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการลงทุนได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นเมื่อรัฐบาลได้ประกาศการออก "G-Token"


การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการลงทุนได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นเมื่อรัฐบาลได้ประกาศการออก “G-Token” ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือการลงทุนรูปแบบใหม่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับประชาชน โดยมีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสการลงทุนให้กับประชาชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินลงทุนน้อย ซึ่งอาจจะไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลหรือพันธบัตรรัฐบาลได้ในอดีต

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา,สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า หากกระทรวงการคลังพิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย G-Token มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงมีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิใน

การได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวและกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะเสนอแนวทางในการกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของ G-Token ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณา ถึงแม้ว่าร่างหลักการนี้จะบังคับใช้เฉพาะหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้นแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ที่ทุกคนในตลาดทุนรอคอยอย่างมีนัยสำคัญ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่เบื้องหลังนโยบายดังกล่าว เปิดเผยว่า G-Token  หรือ Government Token พันธบัตรสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ เป็นเครื่องมือการออมและลงทุนรูปแบบใหม่สำหรับประชาชนโดยตรง วงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐใช้รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุนจากประชาชนโดยตรง

โดยทั่วไปการออกพันธบัตรออมเงินจะออกโดยสถาบันขายให้กับประชาชน จึงเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนให้รัฐบาล ซึ่ง G-Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี และไม่สามารถนำไปใช้แทนเงินสดหรือซื้อขายสินค้าได้ ไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงิน แต่ประชาชนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไป และสามารถเริ่มต้นลงทุนได้น้อย สมมุติจะลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท 1,000 บาท ก็ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่”

การออก G-Token ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1. เพิ่มเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาล และ 2. ขยายโอกาสการเข้าถึงการลงทุนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินลงทุนน้อย ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่สามารถเข้าถึงตราสารหนี้ของรัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ได้อย่างทั่วถึง ก้าวใหญ่ครั้งใหม่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ต้องติดตามดู

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button