
ภาพยนตร์ดีที่แนะนำ
ภาพยนตร์ชุดซีรีส์ใน Netflix เรื่อง Memoir of Rati ของค่ายจีเอ็มเอ็ม กำลังเข้มข้นเพราะเป็นการอ้างอิงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ภาพยนตร์ชุดซีรีส์ใน Netflix เรื่อง Memoir of Rati ของค่ายจีเอ็มเอ็ม กำลังเข้มข้นเพราะเป็นการอ้างอิงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือที่รู้จักในระดับนานาชาติว่า วิกฤตการณ์ฝรั่งเศส–สยาม เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการทูตและการทหารระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สามกับราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ในบริบทของการขยายอิทธิพลจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเข้าสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง วิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้สยามต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่อินโดจีนของฝรั่งเศส และเป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การทูตของสยามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่19
ซีรีส์เรื่องนี้ หยิบยกเอาเกร็ดประวัติศาสตร์ มาเขียนเป็นพล็อตเรื่องใหม่อย่างน่าสนใจ โดยผ่านมุมมองของรติ ตัวเอกของเรื่องที่มีบทบาทเป็นล่ามแปลภาษาของคณะทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเจรจากับรัฐบาลสยาม เรื่องความขัดแย้งของสยามกับฝรั่งเศส
รติเป็นเด็กชายชาวไทยที่ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวของลูตินชาวฝรั่งเศสที่แต่งงานกับสาวไทยแต่ไม่มีลูกด้วยกัน เดิมรติที่มีชื่อไทยว่าจ้อยเป็นทาสก้นครัวของตระกูลขุนนางชาวไทย
ระหว่างเดินทางกลับมาสยามด้วยภารกิจทางการทูตของลูติน ทำให้รติได้พบกับคุณชายธีรธรณ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงธรรมการและผูกสัมพันธ์กัน โดยที่รติไม่รู้ว่าธีรธรณ์มีตำแหน่งใหญ่โตในราชสำนักสยามและเข้าหารติเพราะความพึงพอใจทางเพศแบบชายชอบชาย ซึ่งตระกูลธีรธรณ์ไม่ชอบใจในพฤติกรรมนี้ถึงขั้นกำลังจะบังคับให้แต่งงานกับหญิงสาวที่ครอบครัวหาให้
รติรู้ความจริงเรื่องตำแหน่งของธีรธรณ์หลังจากการเจรจาคืบหน้าไปครึ่งทางแล้ว และทางราชสำนักสยามต้องการให้รติเป็นตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสในการสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับขุนนางสยามเพื่อการเจรจาจะได้ราบรื่นขึ้น ซึ่งรติก็ตอบตกลงทำให้ลูตินต้องกลับฝรั่งเศสไปเพียงลำพัง
ความสัมพันธ์ของรติกับธีรธรณ์จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของสยามอย่างรุนแรงด้วยการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 และการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา
ถือว่าภาพยนต์ซีรีส์เรื่องเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างดียิ่งเรื่องหนึ่งแม้ว่าจะเน้นหนักไปที่ความรักระหว่างเพศสภาพมากเกินไปก็ตาม
เรื่องราวที่ภาพยนตร์ไม่ได้พูดออกไปตรง ๆ คือวิกฤตการณ์ รศ. 112 นั้นยังเป็นสิ่งที่คนไทยที่รักชาติทั้งหลายต้องทบทวนกลทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะกับท่าทีดูถูกเหยียดหยามของฝรั่งเศสที่เคยสร้างเอาไว้กับชาวสยาม อย่างเช่น การจับคนไทยที่เป็นคณะเจรจาอย่าง ม.ร.ว.ราโชทัย โยนบกจากหน้าต่างสถานทูตฝรั่งเศส ตามคำสั่งของมองซิเออร์ปาวีต์ ตัวแทนคณะเจรจาของฝรั่งเศส
ต้นตอของวิกฤตการณ์เริ่มต้นจากความพยายามของฝรั่งเศสในการขยายอำนาจเหนือดินแดนลาว โดยอ้างความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ระหว่างลาวกับเวียดนามซึ่งอยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงถือว่าดินแดนลาวควรอยู่ในขอบเขตอิทธิพลของตน การแต่งตั้งโอกุสต์ ปาวี เป็นรองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบางใน พ.ศ. 2429 ทำให้ฝรั่งเศสมีบทบาทแทรกแซงกิจการภายในลาวมากขึ้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายสยามยังคงถือสิทธิ์เหนือหัวเมืองลาวจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการปกครอง จนนำไปสู่ความขัดแย้งซ้ำซ้อน ฝรั่งเศสใช้เหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเป็นข้ออ้างในการข่มขู่และเรียกร้องทางการทูต ซึ่งรัฐบาลสยามพยายามเจรจาแก้ไขโดยสันติวิธี แต่ไม่ประสบผล
ความตึงเครียดถึงจุดสูงสุดเมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบสองลำ ได้แก่ แองกองสตอง (Inconstante) และ กอมเมต (Comète) ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของฝ่ายไทย เข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2436 เกิดการยิงปะทะกับป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งฝ่ายสยามเสียเปรียบด้านกำลังรบ
วิกฤตรศ.112 นี้ไม่เพียงแต่ทำให้สยามสูญเสียดินแดนเป็นวงกว้าง แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูประบบราชการ ทหาร และการต่างประเทศของสยาม เพื่อธำรงเอกราชภายใต้ยุคอาณานิคมตะวันตก
วิษณุ โชลิตกุล