เปิดเมนู 12 หุ้นอาหาร-เครื่องดื่มน่าสอย!ชูงบฯ Q3 โตเกิน100%-พลิกมีกำไรสุดเจ๋ง

เปิดเมนู 12 หุ้นอาหาร-เครื่องดื่มน่าสอย! ชูงบฯ Q3 โตเกิน100%-พลิกมีกำไรสุดเจ๋ง


ช่วงนี้กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มดูจะเป็นหุ้นที่เข้าตานักลงทุน และมีแรงซื้อขายเข้ามาคึกคักเป้นพิเศษ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกไก่ที่ตีปีกคึกมากสุด เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้อนุมัติให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งไปเกาหลีใต้ตั้งแต่ 9 พ.ย.เป็นต้นไปโดยเริ่มทยอยอนุมัติแล้ว 10 แห่ง และอยู่ในกระบวนการรออนุมัติอีก 41 แห่ง โดยมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งจากไทยไปเกาหลีใต้สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อีกทั้งทางเกาหลีใต้พบเชื้อไข้หวัดนก H5N6 ในฟาร์ม 2 แห่ง ได้ช่วยกระตุ้นให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกไก่

แน่นอนจากปัจจัยดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมานำเสนอ 

โดยครั้งนี้คัดเลือกบริษัทที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/59 มีกำไรเพิ่มขึ้น และพลิกกลับมามีกำไรโดดเด่นมานำเสนอ โดยหุ้นที่เข้ามาติดเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 12 ตัว อาทิ CPF, TVO,TFG, M, GFPT, CBG, TKN, MALEE, PM, LEE, APURE และ PRG ดังตารางประกอบ

หลักทรัพย์ กำไร Q3/59 กำไร Q3/58
ล้านบาท
CPF  5,184.30 3,571.42
TVO  1,055.84 659.15
TFG  531.71 -276.02
509.91 365.49
GFPT  495.67 326.25
CBG  439.48 299.69
TKN  202.12 118.56
MALEE  161.01 58.44
PM  101.64 80.16
LEE  84.70 34.45
APURE  74.00 36.61
PRG  9.05 6.93

ทั้งนี้ หากสังเกตหุ้นดังกล่าวจะเห็นว่าหุ้น MALEE, LEE, APURE เป็นหุ้นที่ทำกำไรเติบโตเกิน 100% ตามมาด้วยหุ้นธุรกิจไก่ที่ทำกำไรได้ได้โดดเด่นทุกตัวคือ CPF, GFPT และ TFG

 

สำหรับบริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 มีกำไรสุทธิ 161.01 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.15 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 176% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58.44 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.42 บาทต่อหุ้น 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ทั้งต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขาย และต้นทุนทางการเงิน

บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” MALEE ราคาเป้าหมาย 140.00 บาท มองไตรมาส 3/59 มีผลประกอบการโดดเด่น MALEE มียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่นอีกไตรมาสในไตรมาส 3/59 ขณะที่กำไรสุทธิในสัดส่วน 94.4% ของประมาณการเดิมในปี 59

อัตราส่วนกำไรสุทธิทำสถิติใหม่ที่ 9.1% ในไตรมาส 3/59 เนื่องจากบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นรองรับยอดขายที่เติบโตทั้งในไทยและตลาดส่งออก มองเชิงบวกต่อแนวโน้มในปี 59-61 มากขึ้นเพราะยอดส่งออกดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรต่อหุ้น 29-47% ในปี 59-61

 

ส่วนบริษัท ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 มีกำไรสุทธิ 84.70 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.09 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 145% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 34.45 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.04 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้ขายอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และต้นทุนขายที่ลดลงจากการบริหารต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

 

ส่วนบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลกำไรสุทธิ 74.00 ล้านบาท  หรือมีกำไรสุทธิ 0.077 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 102% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36.61 ล้านบาท หรือมีผลกำไรสุทธิ 0.038บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานของบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมียอดส่งออกสูงขึ้น-ต้นทุนการผลิตลดลง

 

ส่วนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.18 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.70 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.57 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.48 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ด้านผลการดำเนินงานในเวียดนามปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานธุรกิจสัตว์บกในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้อุตสาหกรรมกุ้งในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด Early Mortality Syndrome เริ่มมีการฟื้นตัว

 

ด้านบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 495.67 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.40 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 326.25 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.26 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากการส่งออก ต้นทุนขายลดลงจากต้นทุนที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ลดลง และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น

 

ส่วนบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) พลิกมีกำไรสุทธิ 531.71 บาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.10 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 276.02 ล้านบาท หรือมีขาดทุนสุทธิ 0.07 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกมีกำไร เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากธุรกิจไก่และสุกรเพิ่มขึ้น

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหาร “เท่าตลาด” โดยแนะนำซื้อทั้ง GFPT (ราคาเป้าหมาย 19.00 บาท) และ CPF (ราคาเป้าหมาย 42.00 บาท) ส่วน TFG (ราคาเป้าหมาย 5.50 บาท) เน้นให้เข้าลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา จนสูงกว่า fair value ไปแล้ว  

 

บล.เออีซี ระบุในบทวิคราะห์ว่า สัปดาห์นี้โบรกฯปะะเมิน SET แกว่งตัวไซด์เวย์ระหว่าง 1,450-1,500 จุด โดยมองตลาดยังอยู่ในช่วงพักตัวด้วยวอลุ่มที่ซึมลง หลังไร้ปัจจัยใหม่และ Fund Flow ยังไหลออกต่อเนื่อง ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำให้ “หลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้น Big Cap. ซึ่งมีความเสี่ยงถูกขายสูง และให้รอจังหวะกลับมาซื้อหุ้น Big Cap. เมื่อดัชนีปรับตัวลงมาบริเวณ 1,450 จุด”

อย่างไรก็ดีช่วงสั้นนักลงทุนยังสามารถ “Selective Buy ในหุ้น Mid-Small Cap ที่มีประเด็นบวกเฉพาะ” อาทิ หุ้นที่ได้ประโยชนจากบาทอ่อนเทียบดอลล่าร์ เช่น GFPT, CPF, TU เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถนำเสนอข้อมูลหุ้นได้ครบทั้ง 12 ตัว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าผลำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ถือเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของหุ้นอย่างชัดเจน ที่สำคัญหุ้นแต่ละตัวมีแผนงานที่โดดเด่นทัั้งปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งโบรกฯเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำให้ลงทุน และมีราคาเป้าหมายสูง ดังนั้นนักลงทุนที่กำลังมองหาหุ้นอาหารและเครื่องดื่มก็น่าจะไม่ผิดหวัง 

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button