สภาอุตฯ สงสัยจัดตั้งมีเบื้องลึก แนะโยน ”บรรษัทน้ำมัน” เข้าป่า

สภาอุตฯ มองพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับเดิมดีอยู่แล้ว แนะโยน"บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทิ้งเข้าป่า! ชี้ไม่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ สงสัยการจัดตั้งมีเบื้องลึกหรือไม่ ?


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 มี.ค.60) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจัดเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.ปิโตรเลียมสะดุด ฉุดประเทศไทยเสียโอกาส” โดยมีตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP นักวิชาการด้านปิโตรเลียม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัย ธนาคารซี ไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT

พร้อมเข้าร่วมแสดงความเห็น เกี่ยวกับพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีการถ่ายทอดทาง Facebook Live ของหน้าเพจ “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” ตลอดช่วงการสัมมนา

โดยนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เกิดความล่าช้ามานานแล้ว และหากผลิตก๊าซธรรมชาติสะดุด ไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องจะมีผลกระทบต่อวัตถุดิบการผลิตปิโตรเลียม จนอาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้แทน

ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนแพงขึ้น รวมถึงกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศต้องปรับขึ้น โดยต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นนั้นทางผู้ประกอบการก็จะผลักภาระมาที่ประชาชน ทำให้ทุกคนทั้งประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

ทั้งนี้ หากการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ บงกช หยุดชะงัก จะทำให้ก๊าซฯหายจากระบบถึงประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า 30% และต้องนำเชื้อเพลิงอย่างอื่นมาทำไฟฟ้าแทน ซึ่งค่าไฟฟ้าแพงขึ้น อุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบหนัก ค่าสินค้าแพงก็จะส่งผ่านมาให้ผู้บริโภค

“ถึงตอนนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังไม่มั่นใจว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมจะพิจารณาได้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะยังถกเถียงกันไม่เลิก ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณามากว่า 6 ครั้ง รวมระยะเวลา 200 กว่าแล้ว และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศชาติจะเสียหาย

ดังนั้นจึงต้องการเสนอให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับเดิม มาใช้ไปก่อนในการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ บงกช หรืออาจจะใช้มาตรา 44 เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมเกิดความต่อเนื่อง และการเปิดให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  ส่วนพ.ร.บ.ที่กำลังแก้ไข ก็ถกเถียงหาข้อสรุปกันต่อไปจนกกว่าจะได้ข้อยุติ” นายบวร กล่าว

นายบวร กล่าวเพิ่มเติม ว่า “พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับเดิม นั้นดีอยู่แล้ว นำมาใช้ได้เลย ส่วนการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือเอ็นโอซี นี่โยนทิ้งเข้าป่าไปเลย เพราะตอบไม่ได้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร  จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศ ถ้าคิดอย่างเร็วๆ การที่พยายามจะตั้งเอ็นโอซี ขึ้นมานั้น มีอะไรซ่อนไว้ใต้พรหมหรือเปล่า แต่ถ้าคิดอย่างใสๆ ก็เห็นว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร

เพราะปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็เป็นผู้กำกับดูแลที่ดีอยู่แล้ว อยากให้รัฐทำหน้าที่ของตัวเองเร็วๆ ตัดสินใจออกมาให้ชัด  คึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง อะไรดีอยู่แล้วรักษาไว้ทำเถอะ อย่าให้รอประเทศไทยต้องล่มแบบเม็กซิโก หรือ  เวเนซูเอลา  และผมไม่เชื่อว่าเอ็นโอซีหน้าไหนจะเข้าใจระบบปิโตรเลียมทั้งหมด ถ้าไม่เก่งพอก็จะถูกชักจูงให้ลงทุนที่ไม่เหมาะสมได้”

ขณะที่นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท PTTEP เปิดเผยว่า หากการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกช ล่าช้าออกไป และผลิตไม่ทันหลังจากหมดอายุในปี 2565 และ 2566 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้รายได้รัฐหายไป 2.4 แสนล้านบาทต่อปี นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มคิดเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทต่อปี  การจ้างงานจะลดลง 1 หมื่นคนต่อปี  เงินลงทุนจะหายไป 1.6 แสนล้านบาทต่อปี รวมถึงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาทต่อปี และกระทบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 3,000 ราย

อย่างไรก็ตามแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบงกช จะหมดอายุวันที่ 23 เม.ย. 2566 และเอราวัณ จะหมดอายุในวันที่ 23 เม.ย. 2565 ซึ่งขณะนี้ PTTEP.ได้วางแผนลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกช ไปจึงถึงวันหมดอายุในปี 2566 แล้ว เพื่อให้ปริมาณการผลิตไม่ลดลงไปมากนัก

ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าการประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุดังกล่าวให้เสร็จภายในปี 2560 นี้ เพราะผู้ประมูลยังมีโอกาสสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาได้ทัน แม้จะเหนื่อยในการเร่งรัดการผลิตก็ตาม

ส่วนดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย CIMBT เปิดเผยว่า ในมุมมองของนักเศรษฐศาตร์เห็นว่า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ถือว่าดีทั้งคู่ เพราะเป็นการพยายามดึงความหลากหลายออกมาใช้ เพียงแต่ขอให้ภาครัฐต้องตัดสินใจให้เร็วและมีความชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนมีโอกาสตัดสินใจที่จะลงทุนต่อ

ทั้งนี้เห็นว่าการลงทุนด้านพลังงานในอนาคตยังมีต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการเริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศแทนที่จะเลือกไทย เนื่องจากความไม่ชัดเจนของภาครัฐ แต่หากพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีความชัดเจนแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการกลับเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น 

“ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งไม่ว่าพ.ร.บ.จะออกมารูปแบบใดเชื่อว่าเอกชนจะปรับตัวได้ และจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้” ดร.อมรเทพ กล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การพิจารณาพ.ร.บ.ปิโตรเลียมควรตัดสินใจเสร็จตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ซึ่งขณะนี้นับว่าล่าช้ามาก อีกทั้งการตั้งเอ็นโอซี ก็มองว่าจะกลายเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะเหมือนตั้งพ่อค้าคนกลางขึ้นมาอีก ทั้งที่ระบบผลิตและการซื้อขายแบบเดิมก็ดำเนินไปได้ด้วยดีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ดังนั้นการผลิตก็เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งการผลิตปิโตรเลียมมาเท่าไหร่ ทาง ปตท.ก็รับซื้อหมด เพื่อนำมาป้อนให้กับผู้บริโภคคนไทย ดังนั้นแม้จะตั้งเอ็นโอซีขึ้นมา ท้ายที่สุดก็ต้องขายให้กับ ปตท. เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นของการมีเอ็นโอซีแต่อย่างใด

“การบริหารจัดการปิโตรเลียมในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหา และยังช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง  รัฐไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับเอกชน เพราะเอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว รัฐควรยุ่งเฉพาะกลไกการตลาดล้มเหลว เช่น เกิดการผูกขาดตลาดก็พอ” ดร.ฐิติศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า การผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งนี้เชฟรอนยังคงมีแผนลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนใจเข้าร่วมประมูลในแปลงสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2565

โดยบริษัทต้องการให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และการออกประกาศกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เปิดประมูลจากภาครัฐ (TOR) โดยเร็วเพื่อให้บริษัทพิจารณาดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

Back to top button