ธปท. กับ บาทแข็ง

แม้ความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเองในกลุ่มผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงแข็งแกร่งยิ่งกว่าภูผาหินว่า มาตรการ “งูกลืนกินตัวเอง” เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เสียงจากกลุ่มคนที่ดูแลธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในกลจักรขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหารมาตลอดหลายปีนี้ น่าจะมีคนรับฟังกันบ้าง


พลวัต 2017 : ธปท.

 

แม้ความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเองในกลุ่มผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงแข็งแกร่งยิ่งกว่าภูผาหินว่า มาตรการ “งูกลืนกินตัวเอง” เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เสียงจากกลุ่มคนที่ดูแลธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในกลจักรขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหารมาตลอดหลายปีนี้ น่าจะมีคนรับฟังกันบ้าง

วานนี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาระบุว่า เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ แล้วยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ 14% เงินริงกิตมาเลเซีย 8% และยูโร 5% ทำให้ อาจส่งผลกระทบต่อระดับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมถึงการตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลของนักท่องเที่ยวยุโรป

แม้ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ จะไม่ถึงกับใช้ถ้อยคำรุนแรง แต่ก็เป็นการเตือนทางอ้อมว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ซึ่งสร้างรายได้แก่ประเทศและกระจายรายได้ดังกล่าวสู่ภูมิภาคต่างๆ รวม 1.05 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.91% คิดเป็นจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ 7.47 แสนล้านบาท อาจจะเหือดหายไปได้ หากค่ายังเป็นขาขึ้นต่อไปไม่หยุด

ประเด็นนี้ มีความหมายที่ทำให้ผู้บริหาร ธปท.ที่ยอมขาดทุนในนามของความปรารถนาดีต่อส่วนรวม อาจจะเป็น “เจตนาดี ประสงค์ร้าย” ก็ได้

รากฐานการแข็งค่าของเงินบาทในปีนี้ มีความแตกต่างจากในอดีต ตรงที่แม้จะเกิดจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า จากการที่ทุนข้ามชาติหลบเข้ามาหาที่ปลอดภัย และหากำไรเล็กน้อยๆ จากจังหวะการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ที่โยงเข้ากับความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ก็มุ่งมาที่ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก ไม่เข้าตลาดอื่นๆ

รอบนี้ ธปท. ยังคงแสดงท่าทีปกป้องจุดยืนของตนเองในการ “ดูแลเสถียรภาพค่าเงิน” ต่อไป แม้จะมีความเสียหายชัดเจนเกิดขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขการขาดทุนของ ธปท. เดือนละหลายหมื่นล้านบาท จาก 1) รายได้จากเงินตราต่างประเทศต่ำกว่ารายจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรเงินบาทที่ออกมาดูดซับสภาพคล่องจากการแทรกแซงเงินบาท 2) มูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ ที่ซื้อมาเก็บเอาไว้เพิ่มเพื่อการแทรกแซงค่าเงินบาทลดลง

ความพยายามอธิบายว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลไม่มากนัก เพราะอัตราแลกเปลี่ยน  “จริง” มิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก  (เมื่อนำไปเทียบกับประเทศคู่แข่งและคู่ค้าโดยถ่วงน้ำหนักการค้า) เนื่องจาก ธปท. ดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงไม่มีใครเชื่อมากนัก

การ “ดูแล” ดังกล่าวในยามที่ค่าบาทผันผวน ธปท. มีเครื่องมือแทรกแซงตลาดเพื่อ “รักษาเสถียรภาพ” หลายด้าน ที่เรียกว่า “ดูดดอลลาร์ แล้วปล่อยบาท” ซึ่งดูได้จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ

กระบวนการจะเริ่มต้นตั้งแต่ ธปท.สั่งการให้โรงพิมพ์ธนบัตร พิมพ์ธนบัตรออกมาซื้อดอลลาร์ เพื่อเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จึงต้องแก้ไขด้วยการสร้างกลไกดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินกลับออกไปจากระบบ เพื่อให้มีความสมดุล เรียกว่า “currency sterilization” ผ่านการดำเนินการในตลาดการเงิน (Open Market Operations : OMOs) ด้วยเครื่องมือหลัก 5 ช่องทาง ประกอบด้วย

  • การทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (bilateral RP) เป็นการปรับสภาพคล่องในระบบแบบชั่วคราว ระหว่าง ธปท. กับ กลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ธปท. ให้ทำหน้าที่เป็นคู่ค้าหรือตัวกลางในการทำธุรกรรมซื้อขายพันธบัตร ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เป็นการดูดสภาพคล่องเงินบาทออกจากระบบเป็นเวลา 1 วัน
  • การทำธุรกรรมซื้อขาดขายขาดหลักทรัพย์รัฐบาล (outright sale of securities) ปรับสภาพคล่องในระบบแบบถาวร โดยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงสุด
  • การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT bond issuance) ดูดสภาพคล่องออกจากระบบ
  • การสว็อปเงินตราต่างประเทศ (Sell-Buy FX swaps) เพื่อปรับสภาพคล่องในตลาดการเงินระยะสั้นอายุไม่เกิน 3 เดือน (คล้ายกับธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) แต่เป็นเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างสภาพคล่องเงินดอลลาร์ ในระบบเศรษฐกิจ
  • หน้าต่างซื้อตราสารหนี้ ธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่องออก ช่วยรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

กระบวนการดังกล่าว ทำให้เมื่อขายพันธบัตรระยะสั้น จะทำให้งบดุลของ ธปท.มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน หนี้สินที่เป็นพันธบัตรสกุลเงินบาทก็จะต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยเมื่อหักลบแล้วจะทำให้ ธปท. มีผลขาดทุนสะสม จนทำให้ส่วนทุนของ ธปท. ติดลบมากขึ้น

ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อบาทแข็ง ทำให้ ธปท.ต้องพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จะลดความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินในระบบลง ผลลัพธ์ท้ายสุด จะลงเอยที่การรักษาวินัยทางการเงินยากลำบากในระยะยาว

ความเสี่ยงของ ธปท.ที่เกิดขึ้นยามบาทแข็ง อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่นักวิเคราะห์ระบุว่า ต่างชาติพากันลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยลงจากหลายสาเหตุคือ 1) เหตุเศรษฐกิจไทยขยายตัวอัตราต่ำกว่าทั่วโลก 2) ราคาหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำเฉลี่ย 1-2% หรือ Underweight 3) เงินลงทุนรัฐไม่คืบ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังน่าห่วง และบาทแข็งลดเสน่ห์ธุรกิจท่องเที่ยว 4) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ลดลงชัดเจนทุกรายการ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน 7) อสังหาริมทรัพย์เหลือขาย

นั่นไม่ได้หมายความว่า แรงเชียร์ต่อบทบาท “อินเดียน่า โจนส์” ของ ธปท.ในยามบาทแข็งนี้ จะยังท่วมท้นเหมือนช่วงเวลาของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

Back to top button