ก.ล.ต.ปล้นตลาดฯอุกอาจ! ตบทรัพย์ 8 พันลบ.พร้อมค่าต๋งอีก90%ของกำไรต่อปี

ก.ล.ต.ปล้นเงินตลาดฯ อุกอาจ! ตบทรัพย์ 8 พันลบ. พร้อมให้จ่ายเงินรายปีอีก 90% ของกำไรต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกเอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่อง แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม การพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund (CMDF))

โดยร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) มีข้อเสนอในการปรับปรุงบทบาท ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. โดยแยกหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนออกจาก exchange function และให้ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประธานกรรมการ CMDF โดยแต่งตั้งพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้จัดการ CMDF

รวมทั้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายเงินรายปีให้แก่ CMDF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ส่งผลให้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ขณะที่ แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า โดยปกติ ก.ล.ต.จะได้รับส่วนแบ่งจากทุกธุรกรรมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดำเนินการอยู่ 40% ไม่นับรวมรายได้ทางตรงของธุรกรรมอื่นๆ ของ ก.ล.ต. เอง เช่น IPO การออกกองทุนต่างๆ หลักทรัพย์ และตราสารหนี้ทุกชนิด รวมถึงธุรกรรมอื่นๆ ของ ก.ล.ต.เอง เหตุใดถึงต้องนำเงินของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้

“รายละเอียดในเฮียริ่งเงินจัดตั้งกองทุนจำนวน 8,000 ล้านบาท ที่มาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะนำไปทำอะไร และนอกจากเงิน 8,000 ล้านบาท ที่จะต้องจ่ายครั้งแรกแล้ว ทาง ตลท.จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบให้อีกปีละ 90%” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ ยังมีการตั้งคำถามอีกว่า คณะกรรมการที่จะเข้ามานั่งในบอร์ดของกองทุน CMDF ส่วนมากเป็นบุคคลที่ ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังเป็นผู้แต่งตั้ง หรืออาจมาจากนอกวงการตลาดทุนเป็นส่วนใหญ่แล้วจะมาพัฒนาตลาดทุนได้อย่างไร และจะมาพัฒนาอะไร

 

ด้าน นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ถือว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเป็นส่วนเพิ่มเติมจากแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ครอบคลุมเรื่องสำคัญ อาทิ การกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ และการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการกำกับดูแลกองทุนรวม

โดยการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้รับฟังความเห็นของสาธารณชนอย่างรอบด้าน เพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงในชั้นถัดไป ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายที่จะประกาศใช้ มีความเหมาะสมและทำให้ตลาดทุนก้าวหน้า มีศักยภาพและยั่งยืน

 

ขณะที่ กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้ มีการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.หลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดให้จัดตั้ง CMDF เป็นนิติบุคคลแยกออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

สำหรับการเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการจัดตั้ง CMDF นั้น มีหลักการ ดังนี้

1.รูปแบบองค์กร  CMDF มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และกำหนดให้รายรับของ CMDF ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

2.ทรัพย์สินของ CMDF ส่วนหนึ่งเป็นเงินประเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ โอนมาจำนวน 8,000 ล้านบาท และเงินที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำส่งตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแต่ละปี

3.วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เช่น ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ และตลาดทุน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างความรู้แก่ผู้ลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและสนับสนุนการศึกษา โครงการวิจัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และการพัฒนา กลไกในตลาดทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะอื่น

4.คณะกรรมการและผู้จัดการ 1) คณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจาก stakeholder 2) ผู้จัดการ เป็นเลขานุการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ

5.Accountability 1) จัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณรายจ่าย โดยจัดทำเป็นแผนสามปี เสนอต่อ รัฐมนตรีและคณะกรรมการ ก.ล.ต. และต้องประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกองทุน 2) จัดทำงบการเงิน และส่งผู้สอบบัญชีในทุกรอบปีบัญชี 3) มีการประเมินผลการดำเนินงาน โดยบุคคลหรือคณะบุคคลภายนอกที่มีความเป็นกลาง และให้เปิดเผยผลการประเมินในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกองทุน และระบบเครือข่ายสารสนเทศของกระทรวงการคลังด้วย

สำหรับเป้าหมายการตั้งกองทุนนั้น มีการระบุไว้ว่าเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี Focus ในการทำ Exchange function มีการบริหารจัดการทางธุรกิจที่คล่องตัว สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์และพร้อมจะแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

จึงควรแยกบทบาทด้านการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนกับ Exchange function ออกจากกัน และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการทำบทบาทหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาตลาดทุนเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว

และเพื่อสนับสนุนการมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุน ดังกล่าวข้างต้น

Back to top button