CHOW จากหนุ่มเน่า เป็น หนุ่มเหน้า

ข่าวดีที่โผล่มาเป็นระลอก ทำให้ใครต่อใครที่เคยขายทิ้งหุ้นเหล็ก (อดีต) ที่กำลังผันตัวสู่หุ้นพลังงาน บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ต้องหันกลับซื้อหรือชำเลืองครั้งใหม่กันเป็นทิวแถว


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ข่าวดีที่โผล่มาเป็นระลอก ทำให้ใครต่อใครที่เคยขายทิ้งหุ้นเหล็ก (อดีต) ที่กำลังผันตัวสู่หุ้นพลังงาน บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ต้องหันกลับซื้อหรือชำเลืองครั้งใหม่กันเป็นทิวแถว

ถือเป็นกระบวนการ “รียูเนียน” หรือ “ถ่านไฟเก่ากลับมาคุโชน”…ก็คงไม่ผิด

สถานการล่าสุด และต่อจากนี้ไปอีกหลายไตรมาสของ CHOW ภายใต้การนำของหนุ่มน้อย นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร ต่างอย่างสิ้นเชิงจากปลายปี 2560 ที่มีหนี้ล้นพ้นตัว จนเต็มไปด้วยข่าวลือเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้นานหลายสัปดาห์จนกระทั่งราคาหุ้นร่วง เพราะไม่สามารถสร้างความกระจ่างแจ้งว่า จะลงเอยด้วยทิศทางไหน

ก็เป็นธรรมดาสำหรับคนขี้สงสัย เพราะสำหรับตัวเลขยอดหนี้รวม 9.928 พันล้านบาท ของ CHOW เมื่อสิ้นงวดเดือนกันยายน 2559 ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นที่ระดับ 1.364 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 7.27 เท่า

สัดส่วนค่า D/E ที่สูงกว่าบริษัทจดทะเบียนยุคก่อนต้มยำกุ้ง จะไม่ให้ตั้งคำถาม มันก็คง….แปลกดีนะ

ปัญหาที่ตามมาคือ ข่าวลือที่แพร่สะพัดยิ่งกว่าดอกหญ้าต้องลมมรสุมว่า มีโอกาสสำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบในเดือนมีนาคมที่จะถึง แม้ยังไม่เกิด แต่มีความเป็นไปได้ พอๆ กับเป็นไปไม่ได้…ก้ำกึ่งกัน

ข่าวลือ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เพราะมีข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงที่ว่า CHOW ได้ร่วมกระโจนเข้าสู่พฤติกรรมหมุนเงินอันแสนอันตรายชนิด “เดินเลียบขอบเหว” ในวงจรอุบาทว์ของหนี้ระยะสั้นโดยผ่านเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าตั๋วบี/อีแบบไม่จัดเรตติ้ง มากกว่า 2.1 พันล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในโครงการไฟฟ้าจากโซลาร์ในญี่ปุ่น ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นอกเหนือจากส่วนที่กู้มาจากธนาคาร EXIM BANK

ยามนั้น แม้ว่าผู้บริหาร EXIM BANK จะออกมาช่วย “แก้ต่าง” ว่ากรณีที่ผู้บริหารของ CHOW ระบุว่า เงินกู้ 3.3 พันล้านบาทที่ได้จากเอ็กซิมแบงก์จะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ตั๋วบี/อีนั้นถือเป็นการบริหารทางการเงินของบริษัท ซึ่งทางธนาคารไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าบริษัททำผิดวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน.. ถือว่า CHOW เป็นบริษัทที่ดีไม่มีปัญหาด้านการเงินแต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังปล่อยกู้ให้ตามปกติหลังจากได้ชี้แจงธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้ว

คำการันตี ระบุถึงขั้นว่า เวลาลูกค้าได้รับอนุมัติเบิกเงินกู้ไป ก็เบิกตามงวดงานส่วนจะนำเงินไปใช้หนี้ตั๋วบี/อีก็พิสูจน์ไม่ได้เพราะเวลาเอาเงินของเอ็กซิมฯ ไปรวมกับเงินของบริษัทที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถแยกออกมาได้ว่าเป็นเงินของใครแน่

แม้จะยืนยัน และนอนยัน ทั้งส่วนของ CHOW และเจ้าหนี้ชนิดไร้ปัญหา แต่ราคาหุ้น CHOW กลายสภาพเป็น…หุ้นที่ถูกเมิน ยาวนานกว่า 2 ไตรมาส นานน่าอึดอัดไม่น้อย

ส่วนหนึ่งเพราะไตรมาสแรกยังมีตัวเลขขาดทุนให้เห็น…เชียร์อย่างไรคงขึ้นยาก

แต่ ชีวิตต้องมีแต่เสมอ…ท้ายสุด วันฟ้าหลังฝน ก็กลับมาจนได้ ..ทองแท้ลุยไฟแล้ว ก็ยังเป็นทองเช่นเดิม

ตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาสสอง 2560 ของ CHOW บอกเรื่องราวที่มากกว่าตัวเลขปกติ เพราะไม่เพียงแค่พลิกจากขาดทุนในไตรมาสที่1 มาเป็นกำไรเท่านั้น ยังกำไรเรี่ยมเร้เรไร 74.93 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.094 บาท เพิ่มขึ้น 72.68 ล้านบาทจากระยะเดียวกันปีก่อน พุ่งทะลุ 3230.22%

เหตุผลสำคัญอยู่ที่ CHOW สามารถบันทึกรายได้จริงจากการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่อุตสาหะลงทุนมาต่อเนื่อง โดยเป็นรายได้จากบริษัทย่อยจำนวน 915.39 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในต่างประเทศจำนวน 10 โครงการ และในประเทศ 1 โครงการกำลังการผลิตรวม 43.411 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นรายได้เริ่มต้นเท่านั้น ยังจะมีตามมาอีกมาก

รายได้จากธุรกิจใหม่นี้ มาช่วยหักกลบขาลงของธุรกิจผลิตภัณฑ์เหล็กแท่งยาว อันเป็นธุรกิจเดิมที่ยังเป็นตัวกดดันต่อไป เพราะรายได้ในการจำหน่ายเหล็ก มีมูลค่า 876.76 ล้านบาท ลดลง 2.73% เมื่อเทียบกับปี 2559 เนื่องจากปริมาณการขายสินค้าลดลง แม้ราคาขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 6.42%

รายได้และกำไรที่หวนคืนมา เป็นมากกว่าน้ำฝนชโลมใจ เพราะแม้ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2560 จะช่วยได้ไม่มากนัก จนทำให้ผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2560 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ยังคงต่ำเตี้ย กับกำไรสุทธิจำนวน 38.19 ล้านบาท ลดลงจำนวน 12.88 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.22 เทียบกับปีก่อน แต่ก็มองเห็นสัญญาณว่า เจอจุดต่ำสุดของธุรกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว

ห่างกันเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ถัดจากออกผลประกอบการ ข่าวดีระลอกใหม่ก็ตามมา… เหมือนเตี๊ยมเอาไว้แล้ว ถึงเวลาค่อยปล่อยออกมาโชว์ เข้าข่าย “ตีเหล็กเมื่อร้อน”

CHOW รายงานต่อตลาดฯเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทย่อยทางอ้อม ขายทรัพย์สินประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น 2 โครงการ (โครงการ Ibaraki กำลังการผลิต 1.17 MW และโครงการ Oita กำลังการผลิต 3.26 MW) ขนาดกำลังการผลิตรวม 4.43 MW ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าประมาณ 2,040 ล้านเยน หรือประมาณ 622.86 ล้านบาท โดยคาดว่าการดำเนินการจะเกิดขึ้นภายในเดือน ตุลาคมปีนี้

บริษัทย่อยดังกล่าว คือ Sun Partner Japan Godo Kaisha (SPN) เป็นบริษัทย่อยทางอ้อมที่บริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น จำกัด (PSCL) ถือหุ้น 100% โดยบริษัทถือหุ้นใน PSCL จำนวน 87.36% ผ่านบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

โครงการ Ibaraki มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลา 18 ปี กับ รัฐบาลญี่ปุ่น (METI) อัตรารับซื้อไฟฟ้า 36 เยนต่อหน่วย

ส่วนโครงการ Oita มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลา 18 ปี กับ METI เช่นกัน แต่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้า 40 เยนต่อหน่วย

ราคาขายไฟฟ้าทั้งสองถือเป็น ราคาพรีเมี่ยม ที่ไม่ต่ำเตี้ยเหมือนโครงการเมืองสารขัณฑ์

กำไรปกติก่อนหน้านี้ ถือว่าไม่เท่าใด แต่กำไรพิเศษอย่างล่าสุดนี่สิ ผู้ถือหุ้น CHOW พากันยิ้มแก้มปริ ฝันถึงปันผลพิเศษล่วงหน้ากันทีเดียวเชียว

 ทำดีมาก อนาวิลจากที่เคยเป็นหนุ่มเน่า (หนี้เยอะเพราะชอบเดินเลียบขอบเหว) ปลายปีก่อน มาเป็น หนุ่มเหน้า (มีอนาคตยาวไกล เพราะขับปอร์เช่ บนทางด่วนบูรพาวิถี) ในปีนี้ และอนาคตทันทีทันใด…ไวกว่าสังข์ทองถอดร่างเงาะ

อิ อิ อิ

Back to top button