IEC เหลือบยกก๊วน

วานนี้ หลังจากตลาดหุ้นไทยปิดทำการไปแล้ว มีประกาศจาก ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC กับพวกรวม 25 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

วานนี้ หลังจากตลาดหุ้นไทยปิดทำการไปแล้ว มีประกาศจาก ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC กับพวกรวม 25 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย

นอกจากนั้น ยังรวมถึงการจัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใดๆ โดยบุคคลที่ถูกกล่าวโทษในจำนวน 25 คนที่ถูกกล่าวหาครั้งนี้ที่โดดเด่นกว่าใคร หนีไม่พ้นนายภูษณ ปรีย์มาโนช นักบริหารชื่อดังในธุรกิจโทรคมนาคมในอดีต ที่ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทนี้ เมื่อไตรมาสแรกของปี 2559 โดยให้เหตุผลที่ “ดูดี” ยิ่งว่า…ขอสละโลกิยะไปบวชในร่มกาสาวพัสตร์

รายชื่อผู้ที่ถูกกล่าวหาแบบ “ยกก๊วน” จาก ก.ล.ต. แบ่งเป็นนิติบุคคล 3 ราย และบุคคลธรรมดา 22 ราย ประกอบด้วยรายนามต่อไปนี้

1) นายภูษณ ปรีย์มาโนช 2) นายชาญไชย เข็มวิเชียร 3) นางสาวพลอยแก้ว ปริศวงศ์ 4) นายมรุพงศ์ ศิริวัฒน์ 5) นายชยกร อัครมาส 6) นายสุนันทร์ ศรีใจพระเจริญ 7) นายสราญ เลิศเจริญวงษา 8) นายสุทิน ใจธรรม 9) นางสาวจารุวรรณ ภูษณะภิบาลคุปต์ 10) นายสุทัศน์ สุขเลิศ 11) นางสาวกรวรรณ สุ่นประเสริฐ 12) นายนิวัฒน์ แม้นอิ่ม 13) นายสุทิน พรหมทอง 14) บริษัท นอร์ท เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด (NE) 15) นายสุนทร ศรีใหม่ 16) บริษัท เอ็นเนอร์จีซิสเท็ม เอ็นจิเนียริง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (ESES) 17) นายนันทวัฒน์ ภูดิทไอยราศักดิ์ 18) บริษัท บ้านทองคำ จำกัด 19) นายสมชาย โพธิ 20) บริษัท เพชรปิยะ กรุ๊ป จำกัด 21) นายธนภัทร เพชรขวัญ 22) นางกัญญาภัค เพชรขวัญ 23) บริษัท ไทย-ชินเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด 24) นายรัตนธร ชินกระจ่างกิจ 25) นางญดาพัชร ชินกระจ่างกิจ

ก.ล.ต. ระบุว่า ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานพบเหตุเกิดในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 – เดือนสิงหาคม 2559 บุคคลทั้ง 25 ราย ได้ร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอม หรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด

ธุรกรรมที่กระทำความผิด เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทย่อย การเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง และการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร ตลอดจนการใช้ NE และ ESES ซึ่งเป็นบริษัทที่นายภูษณ มีอำนาจควบคุม เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตในหลายกรณี ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 กรณี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นรวมมากกว่า 200 ล้านบาท

ข้อมูลซึ่ง ก.ล.ต.ระบุไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย เพราะความจริงแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกรณีของ IEC มีมากกว่าที่ระบุว่าแค่ 200 ล้านบาทหลายเท่า

ล่าสุดในปัจจุบัน IEC (ซึ่งเพิ่งจะผ่านมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนมโหฬารไปหมาดๆ ด้วยราคาขายหุ้นเพิ่มทุนเพียงแค่ 0.0125 บาท หรือ 1.25 สตางค์ เมื่อสองสัปดาห์นี้เอง) มีสภาพเป็นบริษัทเกือบเหลือแต่ซาก มีรายได้-กำไรไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้ส่งงบการเงินมาต่อเนื่อง 5 ไตรมาสแล้ว….นับแต่งวดสุดท้ายที่ส่งคือไตรมาสแรก 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากนายภูษณะ ไปบวชและหายตัวไปจากวงสังคมเล็กน้อย

เมื่อไม่มีงบการเงินให้ดู…และได้ถูกตลาดฯ สั่งห้ามซื้อขายนานกว่า 1 ปีแล้ว…ก็มีคำถามว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ IEC ยุคของนายภูษณ ที่มากับความฝัน และหายไปกับข้อเท็จจริงที่ดำมืด

ข้อเท็จจริงของ IEC เท่าที่เปิดเผยออกมา ระบุว่านับแต่ปี 2557 บริษัทนี้มีการเพิ่มทุนทุกปี (ยกเว้นปี 2559) เหตุก็เพราะเงินสดในบริษัทมีไม่มากสำหรับทำโครงการลงทุนด้านพลังงานแบบ “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ทั่วประเทศ นอกเหนือจากโครงการลงทุนผลิดอกออกผลไปแค่จิ๊บจ้อย เช่น โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่จังหวัดระยอง ที่ใช้เงินลงทุนจำนวน 663 ล้านบาท

การเพิ่มทุนซ้ำซาก โดยที่รายได้และกำไรของบริษัทไม่สอดรับกับวิศวกรรมการเงิน จนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นที่มีมากมายไม่มีประโยชน์…นอกจากนิยายน้ำเน่าเรื่องการสร้าง “วิมานเมฆ” อันเลิศลอย เพื่อเสริมปฏิบัติการสูบเงินจากตลาดหุ้นอีกครั้งหรือหลายครั้ง….ก่อนที่ผีกระสือหุ้น จะจากไปโดยเหลือแต่ซากกิจการ

กรณีของนายภูษณกับพวกรวม 25 รายถูกเปิดเผยถึง 9 การกระทำที่ถูกว่าเป็นความฉ้อฉลอย่างมีการเตรียมการอย่างแยบยลทั้งสิ้นประกอบด้วย

กรณีที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการซื้อหุ้นบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด (SK1) มูลค่า 345 ล้านบาท ซึ่งผู้ขายหุ้นคือนายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ ได้รับเงินค่าหุ้นจำนวน 300 ล้านบาท โดยเงินส่วนต่าง ประมาณ 45 ล้านบาท ได้ถูกนำไปให้นายภูษณ

กรณีที่ 2 กระทำการให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง โดยนายภูษณ นายชาญไชย และนายสราญได้จัดทำเอกสารลวงและชำระหนี้บางส่วนแทนลูกหนี้คือนายสุทัศน์ ซึ่งนายสุทัศน์ยอมเข้าเป็นลูกหนี้แทนนายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทเชื่อว่าลูกหนี้ที่ค้างชำระส่งมอบเชื้อเพลิงมูลค่า 53.62 ล้านบาท สามารถชำระหนี้คืนให้กับบริษัทได้ ก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะอนุมัติให้ IEC เปิดเผยงบการเงินประจำปี 2558 โดยไม่ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากหนี้ค้างชำระดังกล่าว

กรณีที่ 3 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ผ่านธุรกรรมการซื้อหุ้น SK1 มูลค่า 100 ล้านบาท หลังจากที่ SK1 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งนายภูษณทราบอยู่แล้วว่า SK1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ฯ แต่ต้องการให้ IEC เข้าซื้อหุ้น SK1 ต่อจากนายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตน และเพื่อให้บุคคลทั้งสองนำเงินค่าขายหุ้นมาชำระคืนให้แก่ตน

กรณีที่ 4 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย จากกรณีที่ IEC ไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นบริษัท โคกเจริญ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (KE) ซึ่ง IEC มีสิทธิซื้อได้ในราคา 45 ล้านบาท แต่นายภูษณได้ติดต่อขอซื้อหุ้น KE ต่อจากผู้ขายโดยตรงในราคา 20 ล้านบาท และได้จัดการผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ขายหุ้นดังกล่าวต่อบุคคลภายนอกในราคาสูงถึง 70 ล้านบาท อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายภูษณโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนางสาวพลอยแก้ว นางสาวกรวรรณ และนายนันทวัฒน์ซึ่งเป็นกรรมการ ESES ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว

กรณีที่ 5 ทุจริต ยักยอกเงินของบริษัท โรงไฟฟ้าหนองรี จำกัด (บริษัทย่อยที่ IEC ถือหุ้นร้อยละ 100) จากการเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้ามูลค่า 58 ล้านบาท กับ ESES โดยเป็นการเข้าทำสัญญาที่มีมูลค่าสูงเกินจริง และโรงไฟฟ้าหนองรีได้ชำระเงินตามสัญญางวดแรกให้ ESES แล้ว จำนวน 12.48 ล้านบาท

กรณีที่ 6 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการขายเม็ดพลาสติกของโครงการของ IEC ที่จังหวัดระยอง โดยนายภูษณ นายมรุพงศ์ และนายชยกร ได้ร่วมกันทำการขายเม็ดพลาสติกให้กับบุคคลภายนอกก่อนวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยผู้ซื้อไม่ได้ชำระเงินให้กับ IEC แต่ได้โอนเงินค่าเม็ดพลาสติกรวมประมาณ 2.95 ล้านบาท เข้าบัญชีนายนิวัฒน์ นายสุทิน พรหมทอง และบริษัท NE โดยนายสุนทร ซึ่งเป็นกรรมการ NE มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว

กรณีที่ 7 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท บ้านทองคำ จำกัด ซึ่งมีนายสมชาย เป็นกรรมการ ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียและระบบกรองน้ำของโครงการของ IEC ที่จังหวัดระยอง มูลค่า 15.09 ล้านบาท โดยนายภูษณและนายมรุพงศ์ ได้ตรวจรับงานและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่พบว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา

กรณีที่ 8 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาซื้อเครื่องร่อนคัดแยกขยะของโครงการของ IEC ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากบริษัท เพชรปิยะ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีนายธนภัทร และนางกัญญาภัค เป็นกรรมการ มูลค่า 10.70 ล้านบาท โดยนายภูษณ นายมรุพงศ์ และนายสุนันทร์ ได้ตรวจรับมอบสินค้าและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่ไม่พบเครื่องจักรตามสัญญา

กรณีที่ 9 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ไทย-ชิน เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งมีนายรัตนธร และนางญดาพัชร เป็นกรรมการ ก่อสร้างโรงงานคัดแยกพลาสติกปนเปื้อน ของโครงการของ IEC ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลค่า 10.50 ล้านบาท โดยนายภูษณและนายมรุพงศ์ ได้ตรวจรับงานและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่พบว่าการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

เลวบัดซบได้ใจจริงๆ…แถมหัวหน้าก๊วนเหลือบอย่างนายภูษณ ยังอ้างผ้าเหลืองบังกายหายตัวไปอีก…จะให้เรียกอะไรดี

อิ อิ อิ

Back to top button