“สหไทย เทอร์มินอล” เคาะราคาขาย IPO 4.50 บ./หุ้น จ่อเทรด mai 23 พ.ย.นี้

“สหไทย เทอร์มินอล” หรือ PORT ผู้ให้บริการด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ที่ครบวงจร เคาะราคาขาย IPO 120 ล้านหุ้นที่ 4.50 บ./หุ้น จ่อเทรด mai 23 พ.ย.นี้ โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน


บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT ระบุว่า บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ระดับ 4.50 บาท/หุ้น โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.60 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 23 พ.ย.นี้

โดยนางเสาวคุณ คุรุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PORT เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 4.50 บาทแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย (ซึ่งรวมถึง 6 ล้านหุ้นที่เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ในราคาเดียวกัน) บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท และพาร์ 0.50 บาท และ มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 460 ล้านหุ้นซึ่งรวมถึงหุ้นไอพีโอจำนวน 120 ล้านหุ้นซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ จะระดมทุนได้ 540 ล้านบาทในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้

ทั้งนี้บริษัทฯ วางแผนจะนำเงินที่ระดมทุนได้ในสัดส่วน 46% สำหรับการขยายธุรกิจ, 29% สำหรับชำระคืนเงินกู้คืนหนี้ และ 25% เป็นเงินทุนหมุนเวียน

เรามั่นใจว่าภายหลังการระดมทุน บริษัทฯจะมีศักยภาพทางธุรกิจและการเงินมากยิ่งขึ้น และด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน การลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาล การขยายตัวของการส่งออกและนำเข้า บริษัทฯจะได้ประโยชน์โดยตรงจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯมีกลยุทธ์ที่จะขยายบริการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำและระบบซอฟท์แวร์เข้ามาใช้มากขึ้น” นางเสาวคุณกล่าว

อนึ่ง บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรสำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) และด้วยที่ตั้งที่ปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์

สำหรับบริการแบบครบวงจรของ PORT ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจร สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และ ซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) 2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง 3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า

โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติและปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม 4. ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น

ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเรือพานิชย์ 2 แห่งคือ ท่าเรือสหไทย และ ท่าเรือ บางกอก บาร์จ (BBT) ซึ่งเป็นบริษัทฯร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น คือ Mitsui O.S.K. Lines (MOL) โดยในเดือนกรกฎาคมปี 2560 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการสินค้าขาเข้าได้

นอกจากนี้ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ สายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง

ด้าน นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PORT กล่าวว่า หุ้นไอพีโอของ PORT ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่มีคู่แข่งน้อยรายในเขตกรุงเทพปริมณฑลและเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากเนื่องจากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม นอกจากนี้บริษัทฯมีทีมผู้บริหาร และพนักงานที่มีความสามารถ และมีอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง ยิ่งกว่านั้น บริษัทฯ มีพันธมิตรร่วมทุนที่เป็นสายการเดินเรือระดับโลกถึง 2 บริษัท

สำหรับหุ้นไอพีโอจำนวน 120 ล้านหุ้นของ บมจ. สหไทย เทอร์มินอล คิดเป็น 26.09% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ สามารถจองซื้อได้ที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง  ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย และ ผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายได้แก่ บริษัท หลักทรัพย์ ไทยพานิชย์ จำกัด บริษัท หลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด บมจ. หลักทรัพย์กรุงศรี และ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด ในวันที่ 13-16 พ.ย.60 โดยหลังจากการเพิ่มทุน กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่กลุ่มรัตนศิริวิไล กลุ่มคุรุจิตร และผู้ถือหุ้นอื่น จะลดการถือหุ้นเหลือ 74% และนักลงทุนทั่วไปจะถือหุ้นประมาณ 26%

ขณะที่บริษัทมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 841 ล้านบาทในปี 2558 และรายได้รวม 830 ล้านบาทในปี 2557 โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 25 ล้านบาทในปี 2558 และจากกำไรสุทธิ 36 ล้านบาทในปี 2557

ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 644 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้ 480 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท

โดยกำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก บริษัท บางกอก บาร์จ เทอมินอล จำกัด (BBT) มีผลประกอบการขาดทุนจากการที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานปลายปีก่อน และยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BBT ได้รับใบอนุญาต ICD แล้วนั้น ทำให้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของ BBT จะปรับตัวดีขึ้นต่อไป

Back to top button