พาราสาวะถี

ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดีกับการที่ครม.ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีคือตั้งแต่ปี 2561 -2562 ยึดหลักการ 4 สร้าง 3 ปรับปรุง 2 ขับเคลื่อน และ 1 ลด เป็นวาระและแนวทางที่สวยงามเหลือเกิน


อรชุน

ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดีกับการที่ครม.ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีคือตั้งแต่ปี 2561 -2562 ยึดหลักการ 4 สร้าง 3 ปรับปรุง 2 ขับเคลื่อน และ 1 ลด เป็นวาระและแนวทางที่สวยงามเหลือเกิน

โดย 4 สร้างคือ สร้างจิตสำนึกให้รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้อื่น สร้างระบบติดตามการละเมิดสิทธิ ที่ไหนบ้าง ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างวัฒนธรรมเคารพสิทธิของผู้อื่นทุกเรื่อง สร้างเครือข่ายดูแลเรื่องสิทธิ ส่วน 3 ปรับปรุง ประกอบด้วย ปรับปรุงฐานข้อมูล ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม และปรับปรุงทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

ส่วน 2 ขับเคลื่อนคือ ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ และขับเคลื่อนหาองค์กรหรือกลุ่มจังหวัดที่เป็นต้นแบบ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำตามเมื่อมีความสำเร็จเกิดขึ้น และ 1 ลดคือ การลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน หมายความว่าทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับหลักการนี้ แล้วดูผลสัมฤทธิ์ท้ายปีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น การค้าแรงงาน ค้าประเวณี ลักลอบแรงงานต่างด้าวว่าลดลงเพียงใด

สมกับเป็นรัฐราชการจริงๆ เขียนแผน กำหนดวัตถุประสงค์ วางเป้าหมายไว้เลิศเลอ แต่คงลืมไปว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐบาลคสช.จนกระทั่งทุกวันนี้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นได้หมดไปแล้วจริงหรือ เอาแค่การปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ทั้งๆที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว ยังไร้วี่แวว แค่นี้ก็พอจะพิสูจน์ความจริงใจต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ได้

ด้วยเหตุนี้ นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.จึงค่อนขอดต่อหลักการวาระแห่งชาติดังกล่าว โดยแยกแยะว่า 4 สร้างคือ สร้างระบบปรับทัศนคติ สร้างระบบส่งพลเรือนขึ้นศาลทหาร สร้างระบบเอาเรื่องผู้คิดต่าง และสร้างระบบตรวจสอบผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศยาก ขณะที่ 3 ปรับปรุง ได้แก่ ปรับปรุงให้ปิดสื่อ เช่น ทีวีง่ายๆ ปรับปรุงให้ทหารเยี่ยมบ้านประชาชนบางคนได้เกือบทุกวัน และปรับปรุงให้กฎหมายเอาผิดย้อนหลัง ลงโทษสี่ชั่วโคตร

ส่วน 2 ขับเคลื่อนคือ ขับเคลื่อนให้ใช้บัตรใบเดียวเลือกตั้ง คิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม หมายเลขผู้สมัครส.ส.กระจัดกระจาย และขับเคลื่อนให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง สำหรับ 1 ลด ตรงนี้น่าจะตรงใจคนส่วนใหญ่และตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุดคือ ลดเสรีภาพของประชาชน ยิ่งการที่ท่านผู้นำบอกว่าจะบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์อย่างเข้มข้นมากขึ้น เรื่องนี้ยิ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

บ้านเมืองยามนี้ที่เรียกได้ว่ารอบกายผู้บริหารรวมทั้งองคาพยพอันเกี่ยวเนื่องกับคณะรัฐประหาร ที่เต็มไปด้วยเนติบริกรพร้อมฐานค้ำยันการเป็นคนดี การจะอธิบายเรื่องใดก็ตามแต่แม้ว่ามันจะย้อนแย้งกันเพียงใด ก็ตีเนียนกันไปได้แบบไร้เสียงทักท้วงหรือวิพากษ์วิจารณ์ ล่าสุด เป็นปมประเด็นเรื่องสนช.ไม่ยอมรีเซตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่กรธ.เสนอ

คำอธิบายจาก สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สนช.อ้างว่า การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนอยู่ต่อไปจนครบวาระ โดยไม่ดูคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นการเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษาและศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ ถ้าให้ตุลาการพ้นจากตำแหน่งทันที จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ต่างประเทศจะวิพากษ์วิจารณ์ได้

พอนักข่าวไปถาม มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. คำตอบที่ได้คือการอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าได้มีการวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวไว้แล้วว่าสามารถทำได้ใน 3 ช่องทางคือ ให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือเซตซีโร่ ให้อยู่เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติหรือรีเซต และให้อยู่ในตำแหน่งทั้งคณะก็ได้ ดังนั้น หากสนช.จะดำเนินการตามช่องทางใด กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง

ดูเหมือนเป็นการปฏิเสธที่ลงตัวอย่างนวลเนียนทีเดียว แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาบทสัมภาษณ์ของมีชัยก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีการยืนยันหนักแน่นทุกอย่างต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ แต่กับเหตุผลของสนช.ที่ไม่รีเซตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเข้ามาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กลับใช้ไม่ได้กับกรณีเซตซีโรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม.ทั้งคณะ

ทั้งๆที่เหตุผลซึ่ง วัส ติงสมิตร ประธานกสม.และคณะยืนยันมาโดยตลอดคือ เข้ามาทำรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่มีชัยก็ย้ำว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้วทุกองค์กรต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเหตุใดกรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีข้อยกเว้น หากเดินเกมอย่างนี้ก็หนีไม่พ้นข้อครหาเรื่องการลูบหน้าปะจมูก วางกลเกมทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ เพื่อการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็มีการสะกิดเตือนให้จับตาดูร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ให้ดี อาจมีเซอร์ไพรส์ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง(เทียม)ระหว่างสนช.และกรธ. จนเป็นเหตุให้ต้องล้มกระดานหรือหาเหตุลากกฎหมายไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งหมดทั้งมวลไม่มีอะไรซับซ้อน เป้าหมายเดียวเท่านั้นคือทำให้โรดแมปเลือกตั้งเลื่อนออกไป ส่วนใครที่มองโลกสวยว่าแล้วไม่กลัวท่านผู้นำเสียคำพูดกันหรืออย่างไร นั่นมันเป็นเรื่องจิ๊บๆสำหรับคนที่เขาอยากอยู่ยาว

ส่วนคนนี้น่าเห็นใจเพราะอยู่กับรัฐบาลคสช.มาตั้งแต่ต้นและปักหลักอยู่ที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬามาโดยตลอด พอโผครม.ประยุทธ์ 5 เล็ดลอดออกมาปรากฏว่าเจ้าตัวอยู่ในข่ายถูกเด้งด้วย จึงไม่แปลกที่วันวาน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร จะน้ำตาคลอ สะอื้นแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงและน่าจะเป็นบทบาทสุดท้ายในเก้าอี้

งานนี้มีการออกตัว ผลงานและการทำงานที่ผ่านมาถูกมองว่าสร้างภาพแต่ความจริงแล้วเป็นคนอย่างนี้ ขอบคุณที่ได้ทำงานด้านการท่องเที่ยว ทำให้คนรักชาติรักแผ่นดิน ได้ทำให้มองเห็นในสิ่งที่มองข้าม ทุกจังหวัดทุกอำเภอว่ามีความสวยงาม อย่างไรก็ตาม กอบกาญจน์ได้ปฏิเสธเรื่องเก็บของจากห้องทำงานและคืนรถประจำตำแหน่ง แต่จากอาการบอกได้คำเดียวว่าต้องบ๊ายบายแน่ๆ เหลือแค่รอรายชื่อที่จะประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น

Back to top button