FVC ปริศนาอักษรไขว้

นายวิจิตร เตชะเกษม ... เสี่ยโล้..... จะมีเกี่ยวข้องอะไรกับ สำนักพิมพ์เก่าแก่แถวเวิ้งนาครเกษม "เขษมบรรณกิจ" ในฐานะอะไร หรือ เคยยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลลีก หรือไม่...ไม่สำคัญเท่ากับว่า ปัจจุบัน เขาคือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ นั่งกิน 2 ตำแหน่งสำคัญในบริษัทมหาชนจดทะเบียน ในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

นายวิจิตร เตชะเกษม … เสี่ยโล้….. จะมีเกี่ยวข้องอะไรกับ สำนักพิมพ์เก่าแก่แถวเวิ้งนาครเกษม “เขษมบรรณกิจ” ในฐานะอะไร หรือ เคยยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลลีก หรือไม่…ไม่สำคัญเท่ากับว่า ปัจจุบัน เขาคือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ นั่งกิน 2 ตำแหน่งสำคัญในบริษัทมหาชนจดทะเบียน ในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC

FVC เข้าตลาดฯ เมื่อปี 2556 หรือ 4 ปีก่อน ในฐานะบริษัทขายอุปกรณ์กรองน้ำ ที่ขายความฝันว่าจะเติบโตสวยงามในอนาคต ตามการขยายตัวตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง รวมถึงสามารถขยายธุรกิจไปยังอาเซียน… แต่จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยทำรายได้เกินปีละ 400 ล้านบาท และไม่เคยทำกำไรสุทธิเกิน 15 ล้านบาทในแต่ละปี

แม้ว่าผลงานทำรายได้ และกำไรจะไม่เติบโตโดดเด่นตามที่ผู้บริหารวาดหวัง แต่ FVC ก็เดินหน้าลุยธุกิจไปเรื่อยๆ เสมือนหนึ่งเป็นโฮลดิ้ง ไม่จำกัดตัวเองที่การขายอุปกรณ์กรองน้ำ แต่แตกไลน์สร้างธุรกิจใหม่ เป็นหลายสาย เช่น กลุ่ม B1 (ธุรกิจด้านระบบน้ำ) กลุ่ม B2 (ธุรกิจเพื่อการพาณิชย์และที่พักอาศัย) และ กลุ่ม B3 (ธุรกิจบริการทางการแพทย์  ที่รวมถึง การขายน้ำยาไตเทียม หรือการติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์) เข้าไปด้วย….ต่อเติมฝันไปเรื่อยๆ…

ส่วนกำไรเติบโต …ให้รอไปก่อน…ยังไม่ว่างโชว์

ปีนี้ FVC นำโดยเสี่ยโล้ ตั้งเป้าใหญ่โต…แต่ต้นปีว่า จะทำรายได้ทั้งปี 500 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้ใหม่ “ธุรกิจไตเทียม” ซึ่งเคยมีสัดส่วนรายได้และการเติบโตจากธุรกิจดังกล่าว 20% ….แต่ปรากฏว่าครึ่งแรกทำรายได้และกำไรต่ำกว่าคาด มีรายได้อยู่แค่เพียง 212.84 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.96 ล้านบาท ..แถมไตรมาสสามก็ยังไม่กระเตื้องอีก รวมแล้ว 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำกำไรสุทธิแค่ 10.15 ล้านบาท …แต่เสี่ยโล้ก็ยังมั่นใจว่าไตรมาสสี่นี้ จะมีฮึดกลับมาทะลุเป้าที่ตั้งเอาไว้…ไม่รู้ว่า เพราะเชื่อมั่นใน mission impossible อะไรรึป่าว

มิหนำซ้ำ…นับแต่มีพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมถือหุ้น ราคาหุ้นของ FVC จึงกลายเป็น “โด่ไม่รู้ล้ม” พี/อี ปาเข้าไปล่าสุดถึง 77 เท่า ….จะเกี่ยวข้องกับคนชื่อสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย หรือบริษัท นิปปอนแพ็ค จำกัด (มหาชน) หรือไม่ ….ยากจะตอบได้

ล่าสุด เสี่ยโล้ ออกมาเปิดเผยมติที่ประชุมกรรมการว่า FVC ได้ผ่านแผนปรับเพิ่มเป้ารายได้รวมในปี 2561 ขึ้นเป็น 900 ล้านบาท โดยการเติบโตหลักมาจากธุรกิจการแพทย์และความงาม เป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ของเดิม ที่อยู่ในกลุ่ม B1, B2 และ B3 ก็มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

รายละเอียดส่วนหนึ่งของแผนเติบโตก้าวกระโดดในปีหน้า อยู่ที่ทีเด็ดของ FVC ที่ได้อนุมัติให้บริษัท ไฮ เฮลธ์แคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด (HHC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเพื่อเข้าซื้อสิทธิแฟรนไชส์อายุ 10 ปี (ระยะเวลาสัญญาของแต่ละสาขาเมื่อ HHC เข้าไปดำเนินการคือ 12 ปี (สัญญา 8 ปี ต่ออัตโนมัติอีก 4 ปีนับแต่วันที่ HHC ใช้สิทธิ (Exercise) แฟรนไชส์) จาก บริษัท วุฒิศักดิ์ เซ็นเตอร์ คลีนิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ WCIG ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งงบลงทุนอีกไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขาใหม่หรือซื้อสิทธิการบริหารสาขาเดิมในโซนภาคตะวันออก

ภายใต้เงื่อนไขซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ดังกล่าว HHC สามารถขยายสาขา และซื้อสิทธิการบริหารสาขาได้ไม่เกิน 25 สาขา โดยวางเป้าหมายรายได้ราว 250 ล้านบาทในปีแรก 2561

คำถามแรกสุดคือ ซื้อเอามาและลงทุนปรับปรุงทำไม เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่า ธุรกิจเสริมความงามของวุฒิศักดิ์นั้น เป็นขาลงชัดเจน….

ผลประกอบการของวุฒิศักดิ์คลินิก ตามรายงานของบริษัทแม่อย่าง บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ที่ก่อหนี้เพื่อทุ่มเงินกว่า 4,500ล้านบาท เข้าเทกโอเวอร์กิจการ และหมายมั่นปั้นมือว่า จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อทำรายได้ในฐานะ “ไข่ทองคำ” ได้กลายเป็น “ไข่เน่า”…จากความเสื่อมทรุดของรายได้จากเคยกำไรจนขาดทุนมากมาย

ผลประกอบการนับแต่ไตรมาส 2 ปี 2559 ที่เสื่อมทรุดรุนแรง จากปกติที่เคยเติบโตปีละ 10-20% แต่กลับลดลงในปีนี้ถึง 5-7% เนื่องจากลูกค้าเป้าหมายมีกำลังซื้อลดลง โดยครึ่งปีแรกปีนี้ขาดทุนไปถึง 45 ล้านบาท แถมยังขาดสภาพคล่องหนักถึงขั้นเบี้ยวชำระตั๋วบี/อี 150 ล้านบาทกับเจ้าหนี้เสียอีก

ขาลงของวุฒิศักดิ์คลินิก ที่ปฏิเสธไม่ได้ …สาหัสถึงขั้นทำให้ EFORL ถอดใจ ต้องหาทางขายกิจการทางอ้อมออกจากมือบางส่วน มาอยู่ในกำมือของบอร์ดชุดใหม่ที่มีนายประพนธ์ มิลินทจินดา แห่งกลุ่ม AEC เข้าไปนั่งบริหารเต็มตัว

ดังนั้น หากเอาคำถามนี้ตั้งขึ้น จะได้รับบอร์ดคำตอบจากเสี่ยโล้ (ตามสูตร) ว่า “…เริ่มแรกเราจะเข้าไปเลือกสาขาที่มีความพร้อมและเหมาะสม เพื่อที่จะเข้าบริหารสิทธิเพื่อให้มีผลตอบแทนเข้ามาทันทีในปีแรก โดยเราจะนำความรู้ความสามารถทางด้านการแพทย์เข้าไปพัฒนาให้สาขาต่างๆ ให้มีความแตกต่างที่มากขึ้น”

หากพิจารณาลงลึกไปอีก จะพบถึงการก่อหนี้และภาระในการลงทุนที่โตเร็วแบบก้าวกระโดดชัดเจนของ FVC….เพราะในข้อความระบุว่า แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการทำรายการมาจาก 1) เงินลงทุนที่ได้จากการจัดตั้ง HHC 100 ล้านบาท 2) เงินเพิ่มทุนจาก FVC ไปที่ HHC อีก 150 ล้านบาท

นั่นหมายความว่า FVC หนีไม่พ้นต้องทำการเพิ่มทุน ซึ่งตามมติบอร์ดระบุว่า จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตาม สัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ตามที่ได้รับอนุมัติโดยผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญ ประจำปี 2560….ซึ่งยังไม่ได้ระบุออกมาว่าจะเพิ่มทุนใหม่ในสัดส่วนเท่าใด และราคาเท่าใด

ฮั่นแน่….เสี่ยจะหาเรื่องเพิ่มทุน ก็ไม่บอกตรงๆ… หรือ ยังหาเหตุผลยังไม่ได้….เพราะในรอบ 3 ปีมานี้ นับตั้งแต่ปี 2558 FVC ทำการเพิ่มทุนมาทุกปีไม่เคยเว้น หากปี 2561 จะเพิ่มทุนอีกครั้ง….ก็คงเป็นเพิ่มทุน 4 ปีซ้อน

แปลกแต่จริง…เพราะตามตัวเลขแล้ว ส่วนผู้ถือหุ้นก็ยังมีมากมายเกินพอ แถมค่าดี/อี ก็แสนต่ำมาก แค่ 0.14 เท่า

ความไม่ชัดเจนหลายซ้อน ที่เป็นมากกว่า “ปริศนาอ้กษรไขว้” นี้ ใครดูและฟังแล้ว ไม่รู้สึกแปลก….ก็คงพิลึก หรือไม่ก็ตายด้านไม่รู้สึกรู้สา

อิ อิ อิ

Back to top button